Saturday 27 April 2024 | 3 : 10 am

เมื่อสินค้า SMEs ถูกเลียนแบบ สิทธิบัตรช่วยคุณได้แค่ไหน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ และไอเดียใหม่ๆ เป็นหัวใจหลักของการทำให้เกิดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์และกลายเป็นธุรกิจ SMEs ได้อย่างง่ายดาย

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเมื่อมีสินค้า บริการ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ย่อมเผชิญกับการถูกลอกเลียนแบบจากนักก๊อปปี้ที่เราได้รับจากข่าวตามสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และแน่นอนว่าเมื่อมีการก๊อปปี้ไอเดียเกิดขึ้น ย่อมทำให้ผู้ที่ริเริ่มสินค้า บริการ หรือนวัตกรรมนั้นๆ ได้รับความสนใจน้อยลง และในที่สุดก็ทำให้ธุรกิจไม่มีความยั่งยืน ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยปกป้องสิทธิไม่ให้ผู้อื่นมาลอกเลียนแบบไอเดีย และรักษาสิ่งที่ตัวเองคิดค้นไม่ให้ตกไปเป็นของผู้อื่นก็คือการจด “สิทธิบัตร”

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “สิทธิบัตร” คือหนังสือสำคัญที่ทางรัฐบาลออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสิทธิบัตรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs มี 2 รูปแบบคือ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สร้างสรรค์รูปร่างภายนอกของผลิตภัณฑ์ ลวดลายหรือสีของแบบผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ขอรับความคุ้มครอง 3 กรณี คือ

1.การขอรับการคุ้มครองกรณีการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยไม่เคยเปิดเผยสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ไหนมาก่อนวันยื่นขอรับสิทธิบัตร และไม่มีการใช้และเผยแพร่มาก่อน, ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว, มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารไอเดีย มีการผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่

2. การขอรับการคุ้มครองกรณีมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นในการขอรับการคุ้มครองเพื่อจดสิทธิบัตรนี้ การประดิษฐ์ต้องไม่ง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญ ในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้นๆ, ผู้ขอจดสิทธิบัตรต้องเขียนรายละเอียดของการประดิษฐ์ให้ชัดเจน มีเหตุผลที่สามารถนำไปสนับสนุนการพิจารณาเพื่ออนุมัติสิทธิบัตรได้ และขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นจะต้องแตกต่างจากเดิม โดยลักษณะการทำงานและผลลัพธ์ที่จะได้ต้องมีความแตกต่างจากงานประดิษฐ์ชิ้นเดิมอย่างชัดเจน

3. สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม โดยจะต้องเกิดประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและนำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างชัดเจน  

เมื่อมีสิทธิบัตร อะไรๆ ก็ง่ายขึ้น เมื่อเราได้รับสิทธิบัตรมาแล้วผู้ถือสิทธิบัตรมีสิทธิในการแสวงหาประโยชน์ที่ได้รับจากการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็น การผลิตเพื่อจำหน่าย ใช้ ขาย มีไว้เพื่อเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร

การจดสิทธิบัตรไม่เพียงแต่มีประโยชน์ทางกฎหมาย ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่แข่งที่เลียนแบบได้ แต่การจดสิทธิบัตรยังมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจซึ่งสำคัญต่อ SMEs ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้าและธุรกิจ อาทิ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถเพิ่มราคาสินค้าและใช้ความแปลกใหม่เป็นตัวดึงดูดผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยให้การขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือคุณภาพอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลรวดเร็วขึ้น, ช่วยเพิ่มช่องทางการเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วได้ง่ายขึ้น เพราะสิทธิบัตรจะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค, ช่วยเพิ่มโอกาสในการหาเงินทุนเพื่อพัฒนาสินค้าคุ้มครอง โดยสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์จะมีอายุคุ้มครอง 20 ปี ขณะที่สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะคุ้มครอง 10 ปีนับตั้งแต่วันขอยื่นจดสิทธิบัตร ซึ่งสิทธิบัตรจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักประกันกู้ยืนเงินจากสถาบันการเงินได้อย่างหนึ่ง และสุดท้ายช่วยเพิ่มช่องทางการเจาะตลาดภาครัฐ ที่มีมาตรการสนับสนุนทางภาษีและการเงิน

ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่คนไทยให้ความสนใจการจดสิทธิบัตรมากขึ้น โดยข้อมูลจากเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เปิดเผยสถิติการจดสิทธิบัตรของแต่ละประเทศในปี 2560 ซึ่งประเทศไทยมีผู้จดสิทธิบัตรถึง 2,188 ราย เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่นที่มี 2,728 ราย โดยคนไทยการจดสิทธิบัตรด้านออกแบบผลิตภัณฑ์มากสุดคือ 2,092 ราย

เชื่อหรือยังว่า การจดสิทธิบัตร นั้นมีแต่ข้อดี สามารถยืนยันความเป็นเจ้าของ การคุ้มครองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และยังเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถข้ามผ่านนักก๊อปปี้และยืนอยู่บนตลาดได้อย่างยั่งยืน

สนใจข้อมูลบริการเพิ่มเติมดูได้ที่ www.tmbbank.com/bizwow/ หรือศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ TMB SME โทร.0-2828-2828 จันทร์–วันเสาร์ เวลา 8.00–20.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดธนาคาร

ททท. เปิดการอบรมหลักสูตร ‘การบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง’ รุ่นที่ 5

นายกิตติ เชาวน์ดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นป...