Monday 9 September 2024 | 4 : 31 pm

ทีเส็บ ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน สร้างงานไมซ์ระดับนานาชาติ ดันไหมและผ้าทอมือไทย สู่เวทีระดับโลก กับงานประชุมนานาชาติ เส้นทางไหม สู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 ‘ไหมไมซ์’ The Silk Road of Isan MICE : 27 พ.ย. 2563 ณ ขอนแก่น ไมซ์ซิตี้

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” โดยสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่มีภารกิจในการส่งเสริมอุตสาห กรรมผ้าไหม ผ้าทอมือ และอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมบูรณาการจัดงานประชุมนานาชาติ เส้นทางไหม สู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 ภายใต้ชื่องาน “ไหมไมซ์” The Silk Road of Isan MICE เพื่อยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมและผ้าทอมือจากชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SMEs หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มผู้ผลิตแบรนด์ผ้าไหมและผ้าทอมือ ด้วยประเด็นสัมมนาผ้าไหม ผ้าทอมือ และไมซ์ ระดับนานาชาติ ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นต์ ที่มีผู้เข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์กว่า 1,500 ท่าน พร้อมกับผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 ท่าน ณ ห้องประชุมอวานี คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ และห้องประชุมราชพฤกษ์ 1-6 โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ในวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.00–20.00 น.

อุตสาหกรรมการจัดประชุมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้านานาชาติ หรือไมซ์ ถือเป็นหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของไมซ์ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การประชุมเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมองค์กร การประชุมวิชาชีพ งานแสดงสินค้า และงานอีเว้นต์ระดับนานาชาติ ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหัวมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ทีเส็บจึงมีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างได้ให้กับประเทศด้วยอุตสาหกรรมไมซ์ ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผ้าไหมและผ้าทอมือ ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์และการเชื่อมโยงวิถีชีวิตของชาวอีสานที่สามารถสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ทีเส็บได้นำจุดเด่นของทั้งสองอุตสาหกรรมมาร่วมผลักดันเพื่อสร้างให้ไหมและผ้าทอมือมีความโดดเด่น และยกระดับเข้าสู่ตลาดนานาชาติ อันเป็นการต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ให้มีความเข้าใจในเรื่องไมซ์ พร้อมผลักดันให้ไหมและผ้าทอมือเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนสามารถสร้างเส้นทางสายไหมให้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักเดินทางไมซ์ที่พลาดไม่ได้

วรทัศน์ ธุลีจันทร์

คุณวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “จังหวัดขอนแก่นรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าบ้าน ต้อนรับพันธมิตรทุกท่านที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อ “ผ้าไหมและผ้าทอมืออีสาน” หนึ่งในอุตสาห กรรมที่สำคัญที่สุด สร้างชื่อเสียงมากที่สุด และสร้างรายได้ทางตรงสู่ชุมชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด และวันนี้เราได้มืออาชีพด้านการจัดงานระดับนานาชาติมาเป็นหัวเรือหลักให้กับไหมอีสาน เกิดเป็นงานที่ผมเองรู้สึกเต็มไปด้วยความหวังว่า ไหมอีสานจะยิ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปทั่วโลกในอนาคตอันใกล้”

ศุภวรรณ ตีระรัตน์

คุณศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การสร้างงานไมซ์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และเชื่อมโยงวิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยชูสินค้าประเภทผ้าไหมและผ้าทอมือให้โดดเด่นระดับนานาชาติ เป็นงานที่เพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับชุมชนและประชาชนต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพผูู้ประกอบการให้มีความเข้าใจในเรื่องไมซ์ โดยประยุกต์กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่กับสินค้า และสร้างประสบการณ์ให้กับชุมชน ตลอดจนยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและนานาชาติได้”

“การจัดงาน ‘ไหมไมซ์’ นี้เป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผ้าไหมและผ้าทอมือในภาคอีสาน เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นมากๆ ของภูมิภาคนี้ เราจึงได้มีการอบรมบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนให้มีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้พัฒนาสินค้าผ้าไหมและผ้าทอ รวมทั้งมีการอบรมเรื่องการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศไปพร้อมกัน ซึ่งในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จะมีวิทยากรจากทั่วประเทศกว่า 30 ท่าน มาให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในรูปแบบ Ted Talk เริ่มจากการผลิต การแปรรูป และการออกแบบ นอกจากนี้ยังมีบูธตัวอย่างสินค้ากว่า 20 จังหวัดมาจัดแสดงในงานด้วย ถือเป็นการยกระดับให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาเจอกัน ทั้งยังเป็นการให้ความรู้และสร้างเครือข่ายไปสู่พื้นที่ชุมชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชุมชนอีกด้วย”

คุณศุภวรรณยังกล่าวอีกว่า “ด้วยความที่ไมซ์เป็นหน่วยงานที่ภาครัฐตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการจัดงานต่างๆ เรามองว่าในส่วนของสินค้าที่ทำจากไหมนั้น ไม่ได้มีแค่ผ้าทอเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องสำอางได้อีกด้วย ฉะนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ ที่หลายกระทรวงกำลังฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นมาจึงมีส่วนสำคัญ อีกอย่างเวทีที่ครบเครื่องที่สุดก็คือเวทีของไมซ์ จึงพูดได้ว่าถ้าจะให้ครบเครื่องเรื่องไหม ก็ต้องใช้เวทีไมซ์เป็นเครื่องมือที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จนี่แหละค่ะ”

สมบัติ กองภา

คุณสมบัติ กองภา ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น กล่าวว่า “ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำแล้ว ผ้าไหมยังเป็นภูมิปัญญาที่สามารถพัฒนา ไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ได้ ภาคอีสานมีชุมชนทอผ้าไหมจำนวนมากที่พร้อมรองรับนักเดินทาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าจะประทับใจและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็กและเยาวชนก็ได้สืบสานวัฒนธรรมไทย นักเดินทางกลุ่มไมซ์ก็ได้ประสบการณ์แบบใหม่ที่หาไม่ได้จากที่ไหน”

ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์

ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการค้าหัตถกรรมไทย กล่าวว่า “ตอนนี้ผู้ซื้อจากทั่วโลกต่างก็มองหาผ้าที่เป็น ‘หัตถกรรม’ ไม่ใช่งานที่มาจากอุตสาหกรรม ผู้สวมใส่ก็มองหาสินค้าที่มีความหมาย มีเรื่องราว ดังนั้น เสน่ห์ของผ้าไหมไทยที่ประณีต ละเอียด บรรจง ผ่านการทอจากมือของช่างทอท้องถิ่นนี่แหละ เป็นจุดแข็งที่ทั่วโลกมองหา ก้าวต่อไปของผ้าไหมไทยจึงเป็นเรื่องการส่งเสริมด้านการตลาด และความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานผ้าไหมไทย ซึ่งในงานประชุมเส้นทางไหม สู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 ก็เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับทุกท่านที่อยู่ในแวดวงผ้าไหม ถือเป็นการต่อยอดทั้งเรื่องของธุรกิจ นวัตกรรม รวมถึงองค์ความรู้ภายในงานเดียว”

“ต้องบอกว่าประเทศไทยเราอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในการผลิตผ้าไหม เพราะเรามีผ้าไหมที่สวยงามมากมาย แล้วผ้าไหมของอีสานก็จะมีลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร ทุกชุมชนจะมีผ้าไหมที่ลวดลายสวยงามแตกต่างกัน ซึ่งเหมาะกับการนำมาออกแบบเป็นเสื้อผ้าตกแต่งร่างกายและทำเป็นสินค้าตกแต่งภายในบ้านเป็นอย่างมาก ดิฉันจึงอยากชวนเชิญนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ร่วมกันออกแบบผ้าไหม ให้เป็นเสื้อผ้าอย่าง กระโปรงยาว กระโปรงสั้น เสื้อเอวลอย ฯลฯ ในสไตล์ที่คนรุ่นใหม่ชอบ ก็น่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมผ้าไหมไทยให้คงอยู่แบบยั่งยืนได้อีกยาวนาน”

คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ออกแบบแบรนด์ WISHARAWISH กล่าวว่า “ในมุมกลับกันบางงานอีเวนท์เราสามารถเอาผ้าไทยที่ราคาไม่แพง มาเพิ่มมูลค่าได้ เช่น ผ้าขาวม้า เราเอามาสกรีนลายเพิ่ม เอาภูมิปัญญาของสองชุมชนมาผสมกัน เช่น เอาเทคนิคการย้อมผ้าแบบอีสานไปใช้กับผ้าไหมในภาคอื่นๆ เอาผ้าจากอีสานไปทำบาติกแบบภาคใต้ กลายเป็นงานที่ Limited ไม่เหมือนใคร ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เหล่านี้ ช่วยยกระดับผ้าไหมและผ้าทอมือไทยไปสู่สากลได้  ซึ่งในงานประชุมนานาชาติของเราครั้งนี้ น่าจะเป็นคลังความคิดสร้างสรรค์ของทั้งช่างทอมากประสบการณ์และนักออกแบบสายเลือดใหม่ ที่ทุกๆ ท่านน่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก”

“ถ้าให้พูดถึงเทรนด์ของผ้าไหมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ จะเป็นการกลับไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่นการใช้สีธรรมชาติหรือสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ ว่าหันมาใช้ของที่มีในชุมชนให้มีคุณค่ามากที่สุดก่อน จากนั้นจึงค่อยนำไปต่อยอด จะเรียกว่าใช้ DNA หรืออัตลักษณ์ของชุมชนเป็นแกนหลักก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกเลยครับ”

อย่างไรก็ตาม “ในฐานะนักออกแบบซึ่งเป็นลูกอีสานคนหนึ่ง สิ่งที่ผมจะช่วยยกระดับผ้าไหมไทยไปสู่ระดับสากลก็คือ การใช้วัสดุในประเทศหรือของที่เรามี ส่งไปในระดับสากล อย่างแบรนด์ของผมเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าก็ใช้ไหมอีสาน ฝ้าย และบาติก ออกแบบสินค้าส่งไปขายในตลาดญี่ปุ่นที่นิยมงานทอสีธรรมชาติและงานหัตถกรรม ซึ่งก็ได้รับฟีดแบคที่ดีมาก แต่การทำคนเดียวมันก็เป็นเรื่องยาก ผมจึงอยากให้นักออกแบบรุ่นใหม่ช่วยกันคิดช่วยกันทำอะไรใหม่ๆ แต่ยังคงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ ผมเชื่อว่ามันจะช่วยทำให้ไหมและผ้าไทยของเราก้าวไปสู่ระดับสากลได้” คุณวิชระวิชญ์ กล่าวปิดท้าย

สำหรับงานประชุมนานาชาติ เส้นทางไหม สู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 “ไหมไมซ์” The Silk Road of Isan MICE ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับ

  • การสัมมนาจากวิทยากรระดับนานาชาติผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหม ผ้าทอมือ และอุตสาหกรรมไมซ์ กว่า 33 ท่าน ทั้งไทย และต่างประเทศ (ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์) ด้วยการสัมมนาจำนวน 16 หัวข้อ อาทิ หัวข้อ “เปิดประเด็น”: นำเสนอ ประเด็น ที่จะขับเคลื่อนวงการไหมและไมซ์ในเวลาสั้นๆ “ลงลึก” : นำผู้เชี่ยวชาญเรื่องเดียวกันที่จะมาเจาะลึกเนื้อหาแบบ เข้มข้น “สูตรลับ” : บทสนทนาของผู้เชี่ยวชาญที่จะนำไปสู่สูตรสำเร็จของวงการไหม และหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ
  • การจัดนิทรรศการด้านผ้าไหมและผ้าทอมือ จากชุมชนและสถานศึกษา ที่ได้รับแรงบันดาลใจและการส่งเสริมหัตถกรรมการทอผ้า จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ด้านผ้าไหมและผ้าทอมือ จากชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการSMEs หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มผู้ผลิตแบรนด์ผ้าไหมและผ้าทอมือกว่า 10 คูหา
  • การแลกเปลี่ยนเจรจาธุรกิจกรรมระดับแบรนด์แฟชั่น และ Distributor ระดับแนวหน้า กับชุมชนผู้ประกอบการด้านผ้าไหมและผ้าทอมือ
  • และงานเลี้ยงอาหารค่ำในรูปแบบอีสานพาแลงและการแสดงแฟชั่นโชว์จากภาคีพันธมิตร ผ้าไหมและผ้าทอมือ พร้อมได้รับเกียรติจากแขกกิตติมศักดิ์ร่วมเดินแฟชั่นโชว์

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดงานสัมมนาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทีเส็บจึงได้จัดงานประชุมนานาชาติ เส้นทางไหม สู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 “ไหมไมซ์” The Silk Road of Isan MICE ในรูปแบบการประชุมไฮบริด กล่าวคือ มีการจัดงานจริง พร้อมการถ่ายทอดการประชุมแบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.isanmice.com และทางเพจเฟซบุ๊ค : isanmice ซึ่งผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้จากทั่วโลก

สสปน. ขอเชิญผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.isanmice.com และร่วมรับฟังการประชุมสัมมนานานาชาติ ครั้งนี้ได้ ในวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างเวลา 08.00–20.00 น. ณ โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์