Friday 29 March 2024 | 3 : 42 pm

ฉลองครบรอบ 100 ปี ‘อินซูลิน’ หลายภาคส่วนร่วมมือส่งเสริมสุขภาพ ในวันเบาหวานโลก 2564 หวังเพิ่มการเข้าถึงการรักษา-ชี้เหลื่อมล้ำรักษาและการตีตรายังเป็นปัญหาสำคัญ

14 พฤศจิกายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก ซึ่งในปี พ.ศ. 2564-2566 นี้ สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF : International Diabetes Federation) ได้กำหนดให้มีการรณรงค์ใน หัวข้อ Access to Diabetes Care. If not now, When? สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้จัดงาน “Together Fight Diabetes ควบคุมเบาหวานดี #ของมันต้องมี” เนื่องในวันเบาหวานโลก ประจำปี 2564 ภายใต้คอนเซปต์ “การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร”

ฉลองครบรอบ 100 ปี “อินซูลิน”

ในปี พ.ศ. 2564 นี้ เป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการครบรอบ 100 ปี ที่มีการค้นพบอินซูลินเป็นครั้งแรกบนโลกใบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวยารักษาโรคเบาหวานตัวแรกของโลกและเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยต่อชีวิตผู้คนได้มากมายและทำให้ผู้เป็นเบาหวานใช้ชีวิตได้อย่างมีความปกติสุข อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะค้นพบอินซูลินมา 100 ปี แต่ยังพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงยา อุปกรณ์ตรวจวัดน้ำตาล เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และการเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้อง หรือระบบสนับสนุนทางจิตใจหรือทางสังคม ทั้งที่ผู้เป็นเบาหวานต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  ที่ผ่านมาผู้ที่เป็นเบาหวานต้องเผชิญกับภาวะที่คุกคามต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการระบาดของเชื้อโควิดไปทั่วโลก พบว่าส่งผลกระทบทางสุขภาพอย่างมากต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อ ดังนั้นในวาระวันเบาหวานโลก 2564 ในครั้งนี้ ทางสมาคมและภาคีเครือข่าย จึงใช้โอกาสพิเศษนี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพื่อที่จะดูแลผู้ที่เป็นเบาหวานในประเทศไทยที่มีกว่า 5 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้เพิ่มการสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นเบาหวานได้เข้าถึงการดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น ในเรื่องการรักษาเบาหวานอย่างต่อเนื่อง การดูแลติดตามระดับน้ำตาลด้วยตนเอง สื่อการสอนเพื่อให้ความรู้ที่ใช้เพื่อการดูแลตนเอง เป็นต้น นอกจากนั้นในโอกาสวันเบาหวานโลกในปีนี้ ก็เป็นโอกาสดีที่ภาครัฐจะมีแผนงานในการสนับสนุนระบบการดูแลผู้ที่เป็นเบาหวานและส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเบาหวาน

สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า“เราประมาณการว่าตอนนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ราว 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบ ได้ว่า 1 ใน 10 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน”

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีอัตราความชุกของโรคเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย คือ ความชุกของเบาหวานที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”

“พบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ได้ไปรักษาตามที่แพทย์นัดในช่วงที่มีการระบาดของโควิด ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี และเมื่อมีการติดเชื้อโควิด จะทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยาก รวมทั้งอาจจำเป็นต้องได้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น และเมื่อต้องให้การรักษาที่บ้าน อาจจะส่งให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากระดับน้ำตาลสูงได้”

“ในช่วงที่มีการระบาดได้มีการตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรักษาตัวที่บ้าน โดยทำการมอบหมายให้แพทย์แต่ละคนดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ติดตามอาการ สั่งยารักษา และถ้าเป็นเบาหวาน สามารถส่งปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางเบาหวานเพื่อให้การดูแลต่อ โดยการดูแลตรงจุดนี้อาศัยแพทย์เฉพาะทางเบาหวาน เครื่องเจาะน้ำตาล แผ่นเจาะน้ำตาล ยาอินซูลินซึ่งได้รับเงินจากกองทุนบริจาค”

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเป็นความรู้ที่จะใช้ป้องกันผู้ที่เป็นเบาหวานในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เป็นการสอนการแก้ไขระดับน้ำตาลผิดปกติเพื่อกันการเกิดภาวะฉุกเฉินจากระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำได้เมื่อผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ที่บ้านดูแลตัวเองยามเจ็บป่วย”

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์

ควบคุมเบาหวานดี #ของมันต้องมี

ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการดูแลรักษาเบาหวาน


รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า องค์ประกอบพื้นฐานของการเข้าถึงการดูแลเบาหวาน มี 5 องค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

การเข้าถึงยาอินซูลินและอุปกรณ์การฉีดยา หลังจากการค้นพบอินซูลิน 100 ปีที่แล้ว ยังมีผู้ป่วยเบาหวานเป็นจำนวนล้านคนที่ยังไม่สามารถได้รับอินซูลิน ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเข้าถึงยาลดน้ำตาลในเลือดในการรักษาเบาหวาน ยารักษาเบาหวานที่จำเป็นบางตัวยังไม่มีใช้ในบางประเทศหรือยังไม่สามารถซื้อได้

การเข้าถึงอุปกรณ์ตรวจน้ำตาลด้วยตนเอง การตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาเป็นสิ่งจำเป้น แต่มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากที่ไม่สามารถหาซื้อมาใช้ได้

การเข้าถึงการให้ความรู้ การศึกษาและลดการตีตรา เนื่องจากมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมถึงผู้ที่เป็นเบาหวานควรได้รับความรู้เพื่อการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่มีผู้ป่วยหลายรายยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องได้

การเข้าถึงอาหารสุขภาพและการออกกำลังกาย ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสถานที่ออกกำลังกาย  ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลและป้องกันโรคเบาหวาน

หลายภาคส่วนร่วมแสดงพลัง หวังลดอัตราผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยในวาระครบรอบอินซูลิน 100 ปีนี้ ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนเป็นอย่างมาก หวังลดอัตราผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ ผู้เกี่ยวข้องด้านกำหนดนโยบาย ทีมบริบาลเบาหวาน และประชาชนเข้าร่วมงานพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ผสานความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยมุ่งผลักดันให้โรคเบาหวานซึ่งเป็นวาระด้านสุขภาพของโลกและประเทศไทยที่ต้องร่วมมือกันดูแลและป้องกัน ยกระดับการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ตลอดจนหาแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมป๊อบอัพช็อป ‘THAINESS STATION สินค้าไทย ร่วมใจเพื่อชุมชน’ ที่สยามพา...

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาเยี่...