เปิดใจวิศวกรหนุ่มไฟแรง แรงบันดาลใจวัยเด็ก มีพ่อเป็นไอดอล เรียนหลักสูตร AUTO-TU สุดเจ๋ง สั่งสมประสบการณ์โลกทำงานก้าวสู่ตำแหน่ง Project Engineer จิ๊กซอว์สำคัญผู้วางแผนโครงการบริษัท โรเบิร์ต บ๊อชฯ |
“วิศวกร” ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ผู้ชายหลายคนใฝ่ฝัน เพราะได้เป็นนักสร้างสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ทั้งการสร้างถนน อาคาร เป็นผู้ควบคุมระบบไฟฟ้า หรือกระทั่งการผลิตและออกแบบยานยนต์ ขณะที่ผู้ชายบางรายเลือกเรียน และทำงานในสายอาชีพนี้ เพราะมี “คุณพ่อ ผู้เป็นวิศวกรโยธา” เป็นโรลโมเดล (Role Model) อีกทั้งการมีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศการทำงานจริง ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ช่วยผลักดันให้เดินบนเส้นทางอาชีพ “วิศวกร” ได้สำเร็จ! |
แต่ก่อนที่จะเล่าถึงย่างก้าวแรกชีวิตในโลกการทำงานในตำแหน่ง “Project Engineer” ขอแนะนำตัวเองก่อน ผมชื่อ “บูล-นายอังกฤษ อู่เงิน” ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (AUTO-TU) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ TSE ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าและการบริการด้านเทคโนโลยียานยนต์ ในตำแหน่ง “Project Engineer”
“พ่อ” โรลโมเดลสำคัญ สร้างแรงบันดาลชีวิต สู่อาชีพ “วิศวกร”
จุดเริ่มต้นของการเลือกศึกษาต่อในสายวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผลมาจากการเห็น “คุณพ่อ” ซึ่งประกอบอาชีพวิศวกรโยธา ทำงานด้านวิศวกรรมมาตั้งแต่วัยเด็ก และเปรียบคุณพ่อเป็นโรลโมเดลในการใช้ชีวิตเสมอมา ดังนั้น ในช่วงชีวิตการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงมองหาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของแต่ละสถาบัน พร้อมตัดสินใจสมัครสอบใน “หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ (AUTO-TU) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.” (TSE) หลักสูตรที่มีความเข้มข้นในการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี-ปฏิบัติ โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ มีบริษัทยานยนต์ชั้นนำของไทยให้การสนับสนุนด้านการฝึกงาน มีภาคอุตสาหกรรมย่านอีอีซีพร้อมรองรับเมื่อสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ รูปแบบการเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ จึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาทักษะการฟังและสื่อสาร ให้พร้อมก้าวสู่ชีวิตการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เพราะภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารได้ทั่วโลก ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แนวโน้มของอุตสาหกรรมมีศักยภาพเติบโตอีกมาก จึงมองว่าเป็นอาชีพน่าสนใจและมีโอกาสก้าวหน้าในโลกของการทำงานในอนาคต”
ทุกอย่างต้องใช้ประสบการณ์ก่อนก้าวสู่ Project Engineer
ภายหลังจากจบการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว ผมยังไม่ได้ทำงานในตำแหน่ง Project Engineer ทันที เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรับผิดชอบสูง ประกอบกับการเป็นนักเรียนทุนของบริษัท จึงต้องเรียนรู้การทำงานจากแผนกต่าง ๆ ก่อน โดยเริ่มต้นจากการฝึกงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากนั้นจึงเข้าทำงานตามระบบ โดยระยะแรกของการทำงานจริง ได้รับมอบหมายเป็น “หัวหน้างานฝ่ายปฏิบัติการการผลิต” ของผลิตภัณฑ์หลักบริษัทจำนวนหนึ่งรายการก่อน นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ด้วยตำแหน่งที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง มีระบบการทำงานเป็นกะ และมีทีมงานภายใต้การดูแลหลายคน อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการทำงานได้ 1 ปี บริษัทได้มอบหมายให้ดูแลโครงการพิเศษต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานที่หลากหลาย และสามารถก้าวสู่ตำแหน่ง Project Engineer จนถึงปัจจุบัน
Project Engineer จิ๊กซอว์สำคัญบริหารจัดการโครงการ
จากการได้รับตำแหน่งดังกล่าว ผมจึงมีหน้าที่ดูแลโครงการลดต้นทุนการผลิต และประสานงานกับหน่วยงานภายใน เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสายการผลิตด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจัยในการผลักดันให้ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง Project Engineer ในครั้งนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรของทาง มธ. มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้ “เป็นมากกว่าวิศวกร” ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่มเพาะบัณฑิตทุกคนได้เรียนรู้ ฝึกทักษะเพื่อก้าวไปสู่ตลาดแรงงานหลากหลายในอนาคต
“ตำแหน่ง Project Engineer จะมีกรอบการทำงานคล้าย วิศวกรทั่วไป แต่เพิ่มในส่วนของงานที่ต้องจัดการและวางแผนเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนการทำงาน ดูแลและจัดการอุปกรณ์ ทีมงาน รวมถึงผู้รับเหมาต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องวางแผนการทำงาน วางแผนงบประมาณ รวมถึงควบคุมต้นทุนการก่อสร้างให้เป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ แต่ทั้งนี้ ขอบข่ายการทำงานของ Project Engineer ของแต่ละบริษัทอาจมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสัดส่วนงานของบริษัทนั้นๆ”
ความไม่แน่นอนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเสมอ
จากชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เลือกเรียนวิศวฯเพราะมีแรงบันดาลใจ จนก้าวสู่ชีวิตของเด็กหนุ่มไฟแรงในโลกของการทำงาน พูดได้คำเดียวว่าสนุก แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันแต่สภาพแวดล้อมที่ดี ย่อมมีผลต่อความสุขในการทำงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องมิตรภาพของเพื่อนร่วมงานนั้นสำคัญมาก ทุกคนให้ความช่วยเหลือและใส่ใจกันเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งต้องติดต่องานกับสาขา ที่ ประเทศบราซิล ซึ่งโซนเวลาในการทำงานต่างกันกว่า 10 ชั่วโมง ทำให้การประสานงานเป็นไปด้วยความลำบาก แต่ทางทีมงานสาขาบราซิลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แม้จะติดต่อได้ทางอีเมล 1 ฉบับต่อวัน จึงต้องแก้ปัญหาโดยการลิสต์รายการที่ต้องการติดต่อให้ครบถ้วน เพราะกว่าทางบราซิลจะติดต่อกลับต้องรอในวันถัดไป แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้เพราะทุกคนช่วยกัน
การทำงานเป็นเรื่องปกติที่ต้องเผชิญกับอุปสรรค สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมาคือความไม่แน่นอน เพราะไม่มีใครรู้เลยว่าปัญหาจะเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำให้ต้องพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คือ ปัญหาด้านการจัดการ เนื่องด้วยทุกคนมีพื้นฐานไม่เท่ากัน ความคาดหวัง และแนวความคิดก็ต่างกัน การที่จะทำให้ทุกคนหันมาร่วมมือกันทำงานให้สำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จากประสบการณ์ทำงานทำให้รู้ว่า การแก้ปัญหาต้องใช้ความเข้าใจและชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งต้องรับฟังทุกความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกันในทิศทางที่ทุกคนสามารถยอมรับได้เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายไปด้วยกัน
สั่งสมประสบการณ์เพื่อวางเป้าหมายในอนาคตข้างหน้า
หลังจากก้าวสู่อาชีพวิศวกรอย่างเต็มตัว เป้าหมายของชีวิตในตอนนี้ ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์หลากหลาย เพื่อทำให้ผมมีชั่วโมงการบินที่สูงขึ้น หรือพูดง่ายๆ เป็นช่วงของการสั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในโลกของการทำงานที่บอกว่าการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด สำหรับเป้าหมายในอนาคตของผม มองว่าเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ดังนั้นปัจจุบัน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด การพยายามเรียนรู้ในหลาย ๆ ด้าน ใช้ความรู้สร้างคุณค่าให้กับตัวเองเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด เพื่อสักวันที่โอกาสมาถึง ผมจะได้พร้อมรับโอกาสและใช้ความสามารถที่มีได้อย่างเต็มที่ เพื่อในวันข้างหน้าจะสามารถนำไปต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้
ทั้งนี้ หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ (AUTO-TU) มีกำหนดเปิดรับสมัครในระบบ TCAS จำนวน 3 รอบ ดังนี้
- รอบ 2 โควตา สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ตราด จ.ปราจีนบุรี จ.ระยอง และ จ.สระแก้ว ตั้งแต่วันนี้–20 กุมภาพันธ์ 2563 สมัครได้ที่ www.tuadmissions.in.th
- รอบ 3 แอดมิชชัน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-27 เมษายน 2563 สมัครได้ที่ www.mytcas.com
- รอบ 4 แอดมิชชัน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-20 พฤษภาคม 2563 สมัครได้ที่ www.mytcas.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT หรือ www.engr.tu.ac.th