ทำงานเก่ง = ต้องทำงานหนัก ? ปฏิเสธงานอย่างไร เมื่อเป็นคนเก่งที่ใครๆ ก็นึกถึง…
ถ้าหากว่า คุณเป็นคนทำงานเก่งและมักจะต้อง ‘ทำงานหนัก’ เพราะความเก่งที่มีอยู่ละก็ YourNextU อยากจะชวนมารู้จักวิธีการรับมือกับ ‘สารพัดงาน’ ที่ดาหน้าเข้ามาหลังจากเราทำผลงานได้ยอดเยี่ยมและได้รับความไว้ใจจากหัวหน้าหรือเจ้านาย ไม่ว่าจะเป็นการรับงานให้ได้ผลคุ้มค่าหรือหลีกเลี่ยงการได้งานเพิ่ม แบบไม่ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างตัวเองและหัวหน้าหรือคนในที่ทำงานจนส่งผลเสียถึงอนาคต
สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ จงภูมิใจในตัวเอง…
อย่างแรกที่คุณจะต้องบอกตัวเองและเราอยากจะบอกคุณคือ “จงภูมิใจกับผลงานที่ยอดเยี่ยม” ของตัวเอง ถึงแม้ว่ามันจะตามมาด้วยสถานการณ์ที่เราจะต้องรับมือกับ ‘จำนวนงาน’ ที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็หมายความถึง ‘ความสามารถ’ ในการทำงานอันประจักษ์ชัดเจนของเราด้วยเหมือนกัน
ผลการศึกษาจาก LiveCareer บอกเราว่า ผู้คนกว่า 87% มองว่า งานเป็นส่วนสำคัญในชีวิต กว่า 88% ยังบอกอีกว่า งานของตัวเองมีความหมายหมายและยังคงสนุกกับงาน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่งานจะสัมพันธ์กับความสุข ความสมหวัง และความพึงพอใจในชีวิต ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานได้ดี ทำงานได้น่าประทับใจ ทำงานจนเจ้านายสังเกตเห็นความสามารถ จงภูมิใจกับมัน เพราะสิ่งที่คุณทำไปจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคุณ
สิ่งสำคัญอันดับสอง คือ ลองทำความเข้าใจหัวหน้าดู…
ถึงช่วงเวลาที่ได้งานเพิ่มจะเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบกันทั้งนั้น แต่ถ้า ‘งาน’ ที่ถูกมอบหมายเหล่านั้น มาพร้อมกับความตั้งใจที่ดีก็อาจจะน่าลองทำความเข้าใจ
เพราะว่า บางครั้งเวลาที่ ‘หัวหน้า’ หรือเจ้านายมองเห็นศักยภาพในตัวเรา เห็นเราจัดการงานยากๆ ได้อย่างง่ายดาย อาจจะทำให้เขาประเมินขีดความสามารถในการรับงานของเราสูงเกินจริง หรือในบางกรณีหัวหน้าอาจจะมอบว่า ‘งาน = รางวัล’ และคิดว่า การให้งานเพิ่มคือการให้โอกาสและความสำเร็จให้กับลูกน้อง ดังนั้น จริงๆ แล้วการเสนองานเพิ่มให้อาจจะเป็นความตั้งใจที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้
แต่ถ้าลองๆ คิดแล้วรู้สึกว่า ไม่ใช่แน่ๆ หัวหน้าไม่ได้หวังดีกับเรา อาจจะแปลว่า เราต้องลองคิดเรื่องตำแหน่งงานใหม่หรือองค์กรใหม่ดู
วิธีรับมือกับ ‘งาน’ ที่เพิ่มเข้ามา เมื่อเราเป็นคนทำงานเก่ง…
วิธีแรก ที่ง่ายที่สุด คือ รับงาน ในกรณีที่งานที่ถูกเสนอเข้ามาทำให้เราสามารถแสดงความมุ่งมั่นและความน่าเชื่อถือในตัวเราได้ และเพิ่มโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว หรือบางครั้งการตอบตกลงอาจง่ายกว่าการพูดคุย เจรจา หรือกำหนดขอบเขตโปรเจ็กต์ใหม่ รวมไปถึงการเร่งงานคนอื่น รองาน และต้องเอามาแก้ไขอีกที บางครั้งการรับงานเพิ่มจึงอาจจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด
วิธีที่สอง คือ ปฏิเสธอย่างเปิดเผยและโปร่งใส แม้ว่าเราจะเป็นพนักงานดีเด่นและบุคลากรยอดเยี่ยมของบริษัทก็มีบางเวลาเหมือนกันที่เราจำเป็นจะต้องปฏิเสธ ‘งาน’ ที่เข้ามาใหม่
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือทำให้กระบวนการทำงานของเราเปิดเผยและโปร่งใส มีการอัปเดตงานๆ กับหัวหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นขั้นตอนแต่ละขั้นตอนที่เรากำลังทำ และเห็นว่าความสำเร็จที่เราสร้างให้กับบริษัทไม่ได้ได้มาง่ายๆ แต่ผ่านการทำงานหนักของเราด้วย
แล้วพอถึงเวลาที่หัวหน้าขอให้เรารับงานไปทำเพิ่มเติม แทนที่จะเลือกบอกว่า “ไม่” ในทันที เราอาจจะเปลี่ยนมาสื่อสารให้หัวหน้าเห็นว่า เรามีงานในมืออยู่และทำพร้อมกันไม่ได้ทุกอย่าง การบอกหัวหน้าว่า เต็มใจจะรับทำโปรเจ็กต์นี้ แต่เพราะอีกงานที่กำลังทำอยู่ จึงจะรับงานนี้ได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หรืออาจจะขอหยุดโปรเจ็กต์ปัจจุบันไว้ก่อน ถ้าหัวหน้าต้องการให้ไปทำโปรเจ็กต์ใหม่มากกว่า
วิธีที่สาม คือ จัดลำดับความสำคัญงานที่ชอบให้หัวหน้ารู้ด้วย ในบางเวลาที่เราปฏิเสธงานใหม่ๆ ที่เข้ามาไม่ได้จริงๆ แบบโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ควรทำคือ ทำให้หัวหน้าเลือกมอบหมายงานที่ชอบที่มีความสำคัญกับเรา ถ้าหากเป็นไปได้ คือ เลือกยกมือรับงานที่ตรงกับความชอบความต้องการของเรามาทำให้เต็มความสามารถ เกินกว่าที่งานที่เราอยากทำน้อยกว่าจะเบียดแทรกเข้ามาได้
แล้วก็อย่าลืมคุยกับหัวหน้าบ่อยๆ ให้หัวหน้ารู้ว่า เราชอบ สนใจ และหลงใหลในงานแบบไหน อยากจะพัฒนาตัวเองไปในทิศทางอะไร รวมถึงมีจุดอ่อน จุดแข็ง และทักษะอะไรบ้าง เวลามอบหมายงานหัวหน้าจะได้นึกออกว่า งานอะไรที่เราชอบ เราอยากทำ และเหมาะสมกับทักษะของเราจริงๆ
สุดท้ายแล้วแม้ ‘ทำงานเก่ง จะไม่เท่ากับ ต้องทำงานหนัก’ แต่ก็อยากขอวนกลับไปที่สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่เราพูดถึงกันในบทความชิ้นนี้ คือจงภูมิใจในตัวเอง เพราะการเป็นคนเก่งทำงานเก่งมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ขอเพียงรู้วิธีรับมือกับงานใหม่ๆ ที่เบียดแทรกเข้ามาในชีวิต เราก็จะสนุกกับการเป็นคนเก่งได้มากกว่าเคย
บทความจาก SEAC (ซีแอค) ผู้นำด้านการพัฒนาผู้นำ บุคลากร และองค์กร ด้วย Smart Learning เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่นำไปใช้จริง