นักเรียนทุกประเภทความพิการจากทั่วประเทศกว่า 300 คน เข้าร่วมงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี’64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว” มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสำหรับนักเรียนพิการแห่งเดียวในประเทศ เพื่อให้นักเรียนคนพิการได้เรียนรู้การค้นหาตนเอง ค้นหาเส้นทางการประกอบอาชีพ พร้อมวางแผนเลือกเรียนในสาขาหรือสถาบันที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง ตอกย้ำว่าความพิการไม่ใช่ข้อจำกัดของการศึกษา และเพราะการศึกษาคือกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างอนาคตของคนพิการ
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี’64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว” ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ภายในงานมีกิจกรรมให้นักเรียนคนพิการได้เรียนรู้ระบบการสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อ การให้ความรู้เรื่องสิทธิทางการเรียนของคนพิการ การรับเข้าและดูแลนักศึกษาพิการจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 18 สถาบัน อีกทั้งมีกิจกรรมเวิร์คชอปปั้นฝันเป็นตัว การทำแฟ้มสะสมผลงาน และเทคนิคการสอบสัมภาษณ์ รวมถึงเพิ่มพลังใจจากการรับฟังรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักเรียนคนพิการได้รับข้อมูลด้านการศึกษาที่รอบด้าน เป็นแนวทางในการตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อที่ชัดเจนมากขึ้น
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดม ศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธี กล่าวว่า งานเด็กพิการเรียนไหนดีนับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา เพราะเป็นงานแรกๆ ของประเทศไทยที่เปิดกว้างและเห็นความสำคัญของการสร้างสังคมที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
“กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีทุนการศึกษาสนับสนุนคนพิการในการศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรี และพยายามขับเคลื่อนให้สิทธิ์เข้าถึงการเรียนฟรีของคนพิการให้เพิ่มมากขึ้น ปรับสภาพแวดล้อมให้นักศึกษาพิการเข้าเรียนได้ และจะขยายความร่วมมือทำข้อตกลงให้มีมหาวิทยาลัยภาคเอกชนได้รับทุนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาพิการได้มากขึ้น” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ว่า สสส. พยายามส่งเสริม เพิ่มทักษะให้เด็กพิการทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมเหมือนเด็กทุกคน ด้วยการสร้างความรู้ที่ตรงศักยภาพคนพิการ ให้มองเห็นเส้นทางที่ใช่สู่อาชีพที่ชอบ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เรียนรู้ไปจะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้นำไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นรายได้มั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีโดยที่ไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่น
“โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำคือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน โดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย” และปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น” นางภรณี กล่าว
“น้องเมธี” นายเมธี ธิติปฏิพัทธ์ พิการทางการเห็น (สายตาเลือนราง) นิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ ซึ่งมาร่วมงานเด็กพิการเรียนไหนดีเมื่อปีที่แล้ว เล่าว่า เมื่อครั้งเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร จ.ชลบุรี กำลังหาข้อมูลที่จะศึกษาต่อด้านภาษาจีน เพราะด้วยตนอยู่เมืองพัทยาได้พบกับชาวจีนค่อนข้างมาก จึงมีความคิดว่าหากสามารถสื่อสารภาษาจีนได้จะเป็นสิ่งดี เมื่อได้พบกับบูธแนะแนวการศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่มีหลักสูตรรองรับและสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการทางการเห็น จึงได้สอบเข้าเรียนในที่สุดและได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นอย่างดี
“น้องแอล” นางสาวธนัญชกร สันติพรธดา พิการทางการเห็น (ตาบอดสนิท) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา โดยใช้ความสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระบบกลาง (Admission) ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกับเด็กไม่พิการด้วย และในงานเด็กพิการเรียนไหนดีครั้งนี้ น้องแอลได้เป็นหนึ่งในรุ่นพี่ที่เข้ามาขับเคลื่อนงานผ่านกิจกรรมต่างๆ เพราะมุ่งหวังอยากให้รุ่นน้องคนพิการได้รับความรู้เรื่องการสอบเข้าและการเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ
“แอลรู้สึกดีใจที่มีงานนี้เกิดขึ้นให้กับรุ่นน้องคนพิการ เพราะมองว่างานที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่คนพิการจริงๆ นั้นมีน้อยมาก และจะทำให้น้องๆ คนพิการได้รับความรู้จากงานนี้ไปเพิ่มมากขึ้นจริงๆ”
ทั้งนี้ จากสถิติรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยประจำปี 2563 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด อยู่ที่ 1,249,795 คน รองลงมาได้แก่ระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษา 21,220 คน จากสถิติดังกล่าวชี้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว สภาพร่างกายที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางการเงินที่มีส่วนทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา “เด็กพิการเรียนไหนดี” โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จึงได้จัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้คนพิการได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเหมาะสม สามารถพัฒนาความรู้ทักษะทางวิชาการและทักษะอาชีพ เพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศได้ต่อไป