Sunday 8 September 2024 | 4 : 15 pm

สธ. หนุนคนไทยรู้เท่าทัน ‘บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว’ สร้างสังคมปลอดบุหรี่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2567

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมจัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 ภายใต้ คำขวัญ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว” หวังกระตุ้นเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครองและประชาชน รู้เท่าทันอันตรายและไม่หลงเชื่อลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ โดยในปีนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้ พลเอก ศิวะ ภระมรทัต กรมวังผู้ใหญ่ประจำวังศุโขทัย เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล World  No Tobacco Day Award 2024 

กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้แทนองค์การเภสัชกรรม ร่วมแถลงข่าวรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 

นพ.โอภาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว” เพื่อย้ำเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครองและประชาชนทุกเพศทุกวัย ได้ตระหนักรู้เท่าทันอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มวัยเรียน เยาวชน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ที่ดึงดูดความสนใจด้วยภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวการ์ตูน และเพิ่มรสชาติให้หลากหลายเพื่อเย้ายวนให้ลิ้มลอง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและการเสพติด ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่จากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย นักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น หากไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง อาจส่งผลให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในภาพรวมกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการในการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ 1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.การสร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน 3.การเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 5.การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมอบหมายให้หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ จะจัดวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้ พลเอก ศิวะ ภระมรทัต กรมวังผู้ใหญ่ประจำวังศุโขทัย เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล World No Tobacco Day Award 2024 และโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่บุคคล รวมถึงหน่วยงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมและให้การสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบด้วยดีตลอดมา โดยภายในงานยังมีกิจกรรมประกวดวงดนตรี World No Tobacco Day Music Awards 2024 รอบชิงชนะเลิศ โดยมีเยาวชน วัยเรียน วัยรุ่นจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันชิงโล่และเงินรางวัล จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า อย่างยั่งยืน 

ด้าน นพ.วันชาติ กล่าวเสริมว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องมีการพัฒนาอวัยวะและร่างกายให้สมบูรณ์เพื่อเป็นกำลังของชาติในอนาคต เพราะนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากเป็นสารเสพติดแล้ว ยังเป็นสารเคมีที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการระคายเคืองและร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้าน เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและเกิดการอุดตัน ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน และเกิดโรคต่างๆ ตามมา ทั้งทางสมอง สติปัญญาบกพร่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไต และอื่นๆ ได้ทุกอวัยวะ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องประชาชนและลูกหลานไม่ให้ข้องแวะกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาบรรจุความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตรของนักเรียนทุกระดับชั้นต่อไป

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า นโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือ การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย สำหรับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ตามคำแนะนำของสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ ซึ่งการห้ามขายจะควบคุมได้ง่ายกว่าในประเทศที่ขาดความพร้อมในการควบคุมยาสูบ ส่วนที่เครือข่ายบริษัทอ้างว่า การยกเลิกการห้ามขาย จะทำให้ชาวไร่ยาสูบไทยขายใบยาได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปสกัดนิโคตินทำน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรือใช้ใบยาสูบทำบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้ความร้อนนั้น ปัจจุบัน บริษัทบุหรี่ใช้นิโคตินและวัสดุสังเคราะห์ในการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าชนิดต่างๆ แทนการใช้ใบยาสูบ ชาวไร่ยาสูบไทยจึงไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนประเด็นที่อ้างว่า การเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าขายได้ถูกกฎหมาย จะทำให้รัฐบาลไทยเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าได้ปีละ 6 พันล้านบาทนั้น หากดูตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่กฎหมายให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ ในปีพ.ศ. 2564 เก็บภาษีบุหรี่มวนได้ 108,750 ล้านบาท ขณะที่เก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าได้เพียง 236.8 ล้านบาท หรือ 0.21% ของภาษีจากบุหรี่ทุกประเภท จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าได้มากตามที่กล่าวอ้าง และขณะนี้บุหรี่มวนที่กฎหมายให้ขายได้ ก็มีถึง 25% ที่เป็นบุหรี่หนีภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีถึงปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะมีเปอร์เซ็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมายสูงกว่าบุหรี่มวนแน่นอน เนื่องจากเด็กและเยาวชน นิยมบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่มวน

ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจัยและพัฒนายาเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นรายแรกในประเทศไทย คือ ยาเม็ด ไซทิซีน จีพีโอ ขนาด 1.5 มิลลิกรัม ซึ่งมีประสิทธิผลดี มีความปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย ในต่างประเทศใช้ในการเลิกบุหรี่มานาน ขณะนี้มีการผลิตและจำหน่ายแล้ว และในอนาคต องค์การเภสัชกรรมจะเข้าร่วมโครงการการให้บริการเลิกบุหรี่ในร้านยา เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น

อัพเกรดความรู้ ‘เกื้อกูลLEs คน ของ ตลาด โมเดล’ เพิ่มคุณค่าในการทำธุรกิจเกื้อกูลชุมชน ในง...

มูลนิธิสถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน องค์กรส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนให...