Sunday 6 October 2024 | 10 : 51 pm

งานอดิเรกสร้างพลังชีวิต

ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ดร.นะโม-เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รั้งตำแหน่ง Head of ME by TMB ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูเรื่องความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ ว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินการของธนาคารหรือไม่ รวมทั้งดูแลโปรดักต์ ME by TMB ซึ่งเป็นซับแบรนด์ของ TMB ที่เน้นทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลและแอพพลิเคชั่น โมบาย แบงกิ้ง ME by TMB โดยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำธุรกรรมผ่านสาขาของแบงก์เช่นเดิมอีกต่อไป

“ก่อนที่จะใช้แอพพลิเคชั่น โมบาย แบงกิ้ง ME by TMB ครั้งแรกลูกค้าอาจจะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อเปิดบัญชี ME กันก่อน แล้วเดินทางไปสาขาของ ME by TMB หรือสาขาของ TMB ในห้างฯ เพื่อยืนยันตัวตนการเปิดบัญชีตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย จากนั้นก็โหลดแอพฯ ME by TMB มาใช้ได้เลย ถ้ามีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ พร้อมกับวิธีใช้ การโอนเงินเข้าออกบัญชี ฯลฯ ซึ่งหากลูกค้ามีปัญหาก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ตลอดผ่านคอลเซ็นเตอร ถ้าไม่นับรวมที่ลูกค้าจะต้องไปยืนยันตัวตนในครั้งแรกเมื่อเปิดบัญชีแล้ว ลูกค้า ME แทบไม่มีความจำเป็นต้องไปสาขาเลย ซึ่ง ME by TMB ถือเป็นโมบาย แบงกิ้ง เจ้าแรกๆ ที่กระตุ้นให้แบงก์ใหญ่ๆ หันมาออกโปรดักต์โมบาย แบงกิ้ง และยกเลิกค่าธรรมเนียมตามเราเลยละ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดทีเดียว

เมื่อมีการแข่งขันสูงก็ยิ่งท้าทาย ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าจะทำยังไงให้เราเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลแบงก์อยู่ในตลาดให้ได้ และการหาลูกค้าเพิ่มก็เป็นเป้าหมายหลักของเรา เพราะคนยุคใหม่จะคุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟน แต่โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้พวกเขาหันมาใช้ ME by TMB มันดีกว่าเจ้าอื่นๆ ยังไง ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราพยายามปรับกันอยู่ตลอด ส่วนในแง่มาร์เก็ตติ้งก็ต้องนำเสนอว่า คุณสามารถทำทุกอย่างได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสาขาแบงก์เลยนะ ฉะนั้นต้นทุนที่เราประหยัดได้ เราก็คืนให้คุณในแง่ของดอกเบี้ยที่สูงกว่า เป็นต้น ปัจจุบันนี้นอกจากลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีลูกค้าในช่วงอายุอื่นๆ เริ่มให้ความสนใจเข้ามาเป็นลูกค้าเรามากขึ้นอีกด้วย”

พูดเรื่องงานไปแล้ว ลองไปดูงานอดิเรกสร้างพลังกายพลังใจให้กับชีวิตที่ ดร.นะโม ทำเป็นประจำ ซึ่งมีด้วยกันหลายอย่าง ทั้งการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งทำได้ง่ายที่สุด เพราะการวิ่งเป็นกิจกรรมที่อยู่บ้านหรือเดินทางก็ทำได้

“เวลาไปต่างประเทศหรือไปต่างจังหวัด ผมจะมีรองเท้าวิ่งติดไปด้วยเสมอ เพราะเวลาที่เราได้วิ่งเราจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของเมืองจริงๆ แล้วยังได้รู้ว่าคนในเมืองนี้เขาใช้ชีวิตกันยังไง ตื่นเวลาไหน กินอะไร ซึ่งการวิ่งทำให้เราได้เห็นกิจวัตรประจำวันของคนเหล่านี้ได้ชัดเจน จริงๆ แล้วผมวิ่งมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมแล้วนะ โชคดีที่ในช่วง 6-7 ปีหลังมานี้ภรรยาก็ชอบวิ่งด้วย เราจึงชวนกันไปวิ่งบ่อยๆ ส่วนใหญ่ไปวิ่งตอนเย็นๆ วันธรรมดาก็จะไปวิ่งหลังเลิกงาน โชคดีว่าทีเอ็มบีสำนักงานใหญ่ที่ผมทำงานนั้นอยู่ตรงข้ามสวนจตุจักร และใกล้สวนรถไฟด้วย สัปดาห์หนึ่งผมมักจะวิ่งให้ได้สองวัน แต่ภรรยาผมตอนนี้เธอวิ่งทุกวันเลยครับ

สิ่งที่เราได้จากการวิ่ง อย่างแรกก็คือ สุขภาพที่แข็งแรง อย่างที่สองคือ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น พอวิ่งๆ ไปเราจะรู้แล้วว่าตอนนี้มีเครื่องมือในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตอนที่วิ่งกับภรรยาผมจะสังเกตว่า ทำไมหัวใจเราเต้นเร็วกว่าเขา เราวิ่งแล้วเหนื่อยง่ายกว่า เขาวิ่งได้ไกลกว่า พอรู้แล้วผมก็ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวะร่างกายของตัวเองว่าเป็นยังไง ข้อดีอีกอย่างของการวิ่งก็คือถือเป็นการทำสมาธิด้วยเช่นกัน

คนที่วิ่งเป็นจะทราบว่า โจทย์ที่ยากที่สุดของคนเริ่มวิ่งใหม่ๆ พอวิ่งแล้วจะรู้สึกว่าเหนื่อยมาก แถมวิ่งไม่ทันคนอื่น ผู้ที่เริ่มต้นวิ่งส่วนใหญ่จะคิดว่าต้องวิ่งเร็วๆ นั่นเพราะเขายังหาจังหวะตัวเองไม่เจอ จึงทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก แต่พอวิ่งไปซักพักก็จะเริ่มจับจังหวะของตัวเองได้ นั่นคือจังหวะเท้ากับจังหวะการหายใจมันต้องสอดคล้องกัน ซึ่งคล้ายๆ กับการทำสมาธิเลย บางครั้งตอนวิ่งมันทำให้เราสามารถเคลียร์สมองได้ด้วย ทั้งเรื่องความเครียด และเรื่องงาน เราจะปลดปล่อยให้มันรู้สึกปลอดโปร่ง นี่คือกิจกรรมที่เราทำเป็นประจำ แล้วในปีหนึ่งผมและภรรยาก็จะไปเที่ยวกันที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งเราก็จะออกไปวิ่งด้วยเช่นกัน เพื่อออกกำลังกาย ดูเมือง และชมธรรมชาติไปในตัว”

ดร.นะโมบอกว่า สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่เขาชอบทำ ก็จะมีการวาดรูปด้วย โดยมักจะไปวาดที่เพนต์บาร์ซึ่งอยู่ในย่านทองหล่อ โดยที่เพนต์บาร์จะมีรูปตัวอย่างที่ค่อนข้างสวยมาเป็นต้นแบบ และมีครูคอยสอนและแนะนำเทคนิคในการวาดให้ โดยเราต้องวาดตามรูปต้นแบบนั้นก่อน

“ที่เพนต์บาร์นี้เหมือนเป็นสถานที่แฮงก์เอาต์และเป็นสถานที่แห่งศิลปะไปด้วย เราไปทีก็อยู่กัน 4-5 ชม.ผมจะชอบใช้สีแรงๆ ฉะนั้นรูปที่ผมวาดจะออกไปทางความฝันซะส่วนใหญ่ หรือที่เขาเรียกว่ารูปสไตล์เซอร์เรียล ถ้ารูปเหมือนจริงนั้นไม่ถนัดเลย แต่ความสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่เราวาดสวยหรือวาดเหมือน มันอยู่ที่เราได้ปลอดปล่อยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ของเรามาก กว่า อาจจะไม่ได้เหมือนเป๊ะ แต่ข้อดีคือการได้ใช้เวลากับตัวเอง ถ้าช่วงไหนไม่ยุ่งมาก ก็จะไปวาด 2-3 เดือนครั้ง ปีหนึ่งก็ 3-4 ครั้งได้

โดยส่วนตัวแล้วผมชอบเดินดูงานศิลปะ เวลาไปเจอพิพิธภัณฑ์ก็จะขอเข้าไปดูหน่อย และดูค่อนข้างนาน เพราะผมจะดูตั้งแต่เรื่องของฝีแปรง ลงสียังไง จิตกรเขาจะคิดทุกอย่างที่เขาใช้ สุดท้ายจะมายืนตีความหมายทั้งหมดของภาพอีกที ว่าเขาพยายามจะสื่ออะไร เวลาไปเที่ยวแล้วเจอพิพิธภัณฑ์ผมจะชอบแวะเข้าไปดูทุกครั้งเลยละ”

ดร.นะโมเสริมว่า นอกจากการวิ่งและการวาดภาพแล้ว เขายังชอบไปเล่นสเกตน้ำแข็งที่ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 อยู่บ่อยๆ อีกด้วย

“ตอนที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ เมืองที่ผมอยู่นั้นค่อนข้างจะหนาว และปีนั้นอุณหภูมิติดลบถึง 30 องศาเซลเซียส บ่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็งจนสามารถเล่นสเก็ตได้ เลย ซึ่งที่คอร์แนลนั้นมีชื่อด้านสเก็ตน้ำแข็งอยู่แล้ว พอไปเรียนผมก็คิดว่าชีวิตคงไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกแล้ว ผมก็เลยไปขอลงคลาสเรียนไอซ์สเก็ต กระโดดได้ หมุนตัวได้ แต่ไม่ได้เก่งอะไรมากนะ เรียกว่าผมสนุกกับมันมากกว่า เป็นไอซ์สเก็ตที่ไม่ใช่แบบฮ็อกกี้ จะออกไปทางฟิกเกอร์สเก็ต ซึ่ง ความยากของการเล่นฟิกเกอร์สเก็ตก็คือ การคุมให้เหล็กแผ่นบางๆ ที่เรายืนอยู่ทั้งเท้าซ้ายและเท้าขวาสามารถสร้างผลที่แตกต่างกันเวลาเล่นได้ แต่พอเล่นนานๆ ก็จะรู้สึกเมื่อยนะ

ถ้ามีเวลาว่างผมก็จะไปเล่นเรื่อยๆ ยิ่งหน้าร้อนก็จะไปบ่อยหน่อย บางครั้งไป 3-4 สัปดาห์ติดกันเลยก็มี ที่เซ็นทรัลพระราม 9 บ้านเรานี่แหละครับ สิ่งที่ได้จากการเล่นสเก็ตน้ำแข็งจะคล้ายๆ การวิ่ง คือได้ออกกำลัง การเล่นฟิกเกอร์สเก็ตเหมือนเป็นการที่เราท้าทายตัวเองด้วย ท่าเราไม่ได้ยากมาก ไม่ถึงกับกระโดดหมุน 3 รอบ แต่ความท้าทายมันอยู่ที่การควบคุมเหล็กที่รองเท้า และการถ่ายน้ำหนักได้ดีต่างหากครับ”

ดร.นะโมทิ้งท้ายว่า การบาลานซ์เรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต สำหรับเขาคิดว่าเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร ยิ่งทำงานใกล้ชิดกับโลกดิจิทัลมากขึ้น เรื่องของเวลาการทำงานออฟฟิศก็ไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะโลกดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปด้วย แต่ก็ต้องมีขอบเขตความรับผิดชอบกับครอบครัว ภรรยา และคุณพ่อคุณแม่ด้วย

“ในวันที่ผมอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ผมจะปิดเสียงมือถือเลย จะไม่รับสาย ไม่หยิบขึ้นมาดูไลน์ เพราะรู้สึกว่าสุดท้ายทรัพยากรของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดมันไม่ใช่เรื่องแรงและเรื่องสมอง แต่เป็นเรื่องเวลา ทุกคนอาจจะมีแรงมีสมองเท่ากัน แต่มีเวลาไม่เท่ากัน ผมจะเซ็ตให้ตารางชีวิตตัวเองพอควบคุมได้ เช่น สัปดาห์หนึ่งจะไม่รับนัดกินข้าวหรือคุยงานกลางคืนเกิน 2-3 วัน เพื่อให้มีเวลาได้กลับบ้าน วันไหนกลับดึกกลับถึงบ้านก็จะไม่เปิดคอมพิวเตอร์เลยครับ

สำหรับแง่คิดหรือคติในการใช้ชีวิตให้มีความสุข ที่จริงมีหลายอย่างมาก แต่สุดท้ายเวลาที่ผมเครียดหรือเหนื่อยและท้อขึ้นมาจริงๆ ผมก็จะมองกลับไปที่พื้นฐานของชีวิตตัวเองว่า ชีวิตเราสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออะไร เราทำงานเพื่อให้ใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ หาเลี้ยงชีพ มีรายได้ดูแลภรรยาได้ ดูแลพ่อแม่ได้ ถ้าอันนั้นเป็นเป้าหมายของเรา ก็หมายความว่าเรื่องของการดูแลครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญ งานเป็นเครื่องมือ พอเราเรียงลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตได้แบบนี้แล้ว เวลาที่เราเครียดจริงๆ มันก็จะมีกระบวนการทางความคิดที่ช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นความเครียดหรืออุปสรรคนั้นไปได้”