หลายคนเมื่อค้นพบการออกกำลังกายที่ใช่แล้ว ก็มักจะทำแบบเดิมซ้ำๆ จนการออกกำลังกายแบบอื่นไม่อยู่ในสายตาอีกต่อไป
ขอยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคนที่ชอบการวิ่ง เมื่อได้เห็นระยะทางของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะติดการวิ่งโดยไม่รู้ตัว หรือคนที่ติดใจช่วงเวลาหลังยกเวท เมื่อผลที่ได้คือกล้ามเนื้อฟิตแอนด์เฟิร์มจนไม่อยากจะเล่นกีฬาอย่างอื่นอีก
แต่รู้มั้ยว่า เมื่อออกกำลังกายซ้ำรูปแบบเดิมๆ ไปสักระยะหนึ่ง ก็จะเริ่มไม่เห็นผลของความเปลี่ยนแปลง แม้คุณจะออกกำลังกายเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังไม่สะใจเหมือนก่อน เหมือนกับร่างกายเราหยุดพัฒนาไปเสียดื้อๆ
“เมื่อออกกำลังกายตามโปรแกรมที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายเราจะปรับตัวเพราะคุ้นเคยกับการใช้งานแบบนั้นแล้ว ดังนั้นจากเดิมที่ร่างกายกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อให้เกิดการเผาผลาญพลัง งาน พอร่างกายชินกับการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ จนกล้ามเนื้อจำว่าเป็นการทำงานตามอัตโนมัติ จะทำให้เกิดการเผาผลาญได้น้อยลง ทั้งๆ ที่ออกกำลังกายแบบเดิมในระยะเวลาเท่าเดิมเลยละ หลายคนจึงรู้สึกได้ว่าน้ำหนักลดได้ยาก ไม่เหมือนช่วงแรกๆ ที่ออกกำลังกาย”
ทนงศักดิ์ วงษาโสม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายจากฟิตเนส เฟิรส์ท บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราออกกำลังกายเพียงรูปแบบเดียว พร้อมทั้งชวนคุณผู้อ่านมาปรับเปลี่ยนการออกกำลัง เพื่อท้าทายให้ร่างกายพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้
5 เหตุผล ที่ควรปรับเปลี่ยนการออกกำลังกายให้หลากหลาย
1.เมื่อออกกำลังด้วยกิจกรรมเดิมไปนานๆ จะทำให้เราใช้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล้ามเนื้อเลยไม่ทำงานหนักเหมือนตอนที่เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ จึงไม่เผาผลาญพลังงานมากเหมือนก่อน ส่งผลให้น้ำหนักก็ไม่ลดลงไปด้วย ดังนั้นสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก จึงควรปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มการออกกำลังกายรูปแบบใหม่เข้าไป เพื่อท้าทายร่างกายให้ใช้งานแบบที่ไม่คุ้นชิน เมื่อร่างกายไม่ชินแล้วก็จะกลับมาทำงานหนักขึ้นและเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ถึงกระนั้นก็ต้องไม่ลืมดูแลเรื่องอาหารควบคู่กันไปเพื่อให้การลดน้ำหนักได้ผล
2.ป้องกันการบาดเจ็บกล้ามเนื้อส่วนเดิม คนที่ออกกำลังกายรูปแบบเดิมเป็นประจำย่อมใช้กล้ามเนื้อชุดใดชุดหนึ่งเคลื่อนไหวในรูปแบบซ้ำๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็นเฉพาะส่วนได้ การปรับโปรแกรมหรือเข้าคลาสใหม่ๆ จะเปิดโอกาสให้เคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น และใช้กล้ามเนื้อที่หลากหลายขึ้น จึงถือเป็นการพักกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้งานเป็นประจำ ให้ฟื้นฟูกลับมาพร้อมสำหรับการออกกำลังกายแบบที่ชอบอีกครั้ง
3.สร้างกล้ามเนื้อส่วนอื่นให้แข็งแรงขึ้น เวลาที่ถนัดหรือชอบการออกกำลังกายแบบหนึ่ง ร่างกายก็จะพัฒนากล้ามเนื้อและความสามารถในการใช้สำหรับการเคลื่อนไหวแบบนั้น แต่อาจจะทำให้ละเลยกล้ามเนื้อส่วนอื่นได้เหมือนกัน ซึ่งการทำกิจกรรมใหม่ๆ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรง และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมรูปแบบที่หลากหลายและให้ผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
4.กระตุ้นการทำงานของสมอง นอกจากการออกกำลังจะพัฒนาร่างกายแล้ว การฝึกซ้อมเพื่อให้เคลื่อนไหวและใช้งานร่างกายได้ตามต้องการนั้น ต้องผ่านการกระตุ้นเซลล์ประสาทจากสมอง แต่เมื่อเริ่มชำนาญหรือเคยชินแล้วร่างกายก็จะสามารถทำไปตามอัตโนมัติ การออกกำลังแบบอื่นหรือการเข้าคลาสใหม่ๆ จึงเป็นการท้าทายและจุดประกายสมองให้ทำงานเพิ่มขึ้นไปด้วย
5.กลับมาตื่นเต้นกับการออกกำลังกายอีกครั้ง การวิ่งในเส้นทางเดิมๆ เล่นเครื่องมือชนิดเดิมๆ เข้าคลาสเดิมกับการทำท่าเดิมๆ อาจทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายจำเจ และทำให้เรารู้สึกว่ามันกลายเป็นหน้าที่เพื่อดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย แค่ทำให้ครบเซตหรือนับเวลาถอยหลังรอให้ครบเวลาก็พอ จะได้รีบกลับบ้านเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายที่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งได้พบเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เราเกิดความสนุกและตื่นเต้นกับการออกกำลังกายอีกครั้ง
จึงสรุปได้ว่า การออกกำลังกายที่หลากหลาย นอกจากจะส่งผลดีต่อร่างกายและสมองแล้ว ยังส่งผลดีต่อจิตใจของเราอย่างมากอีกด้วย ฉะนั้นรีบลุกขึ้นมาออกกำลังกายกันเถอะ!!