เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงจะรู้สึกกังวลใจเวลาลูกๆ ชอบกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มหวานๆ เพราะเมื่อกินหวานมากๆ จะทำให้เด็กประสบภาวะอ้วน ซึ่งความอ้วนไม่ได้มีความสำคัญแค่ในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ สุขภาพไม่แข็งแรงอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ไมโล ซึ่งมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ มีโภชนาการที่ดี และมีรสชาติอร่อยให้กับผู้บริโภคชาวไทย จึงจัดเวิร์กช็อปเปิดตัว “ไมโล สูตรไม่มีน้ำตาลทราย” ใหม่!! ซึ่งเป็นนวัตกรรมเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ที่ไม่มีน้ำตาลทรายครั้งแรกของไทยที่ให้รสชาติ “อร่อย ได้คุณประโยชน์และพลังงาน แม้ไม่มีน้ำตาลทราย” หวานธรรมชาติจากนมและมอลต์
ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ “หมอมินบานเย็นจากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา” มาให้ความรู้และเทคนิคการสอนลูกไม่ให้ติดหวานว่า “เบื้องต้นต้องรู้จักพัฒนาการปกติของเด็กเล็กกันก่อนว่า เด็กเล็กจะยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นตัวของตัวเอง มีเรื่องดื้อ ไม่เชื่อฟัง หากผู้ใหญ่มีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ตามใจเกินไป หรือบังคับมากไป ใช้อารมณ์รุนแรงกับการดื้อของเด็ก จะยิ่งทำให้เด็กต่อต้านมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องที่เจอบ่อยว่าเด็กดื้อก็จะเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องของการกินอาหารและเครื่องดื่มที่บางครั้งเด็กๆ ก็จะเลือกกินอย่างที่เขาชอบ เด็กบางคนอาจจะติดหวาน หรือติดอาหารที่เขากินบ่อยๆ ทำให้กินไม่หลากหลาย ทำให้ผู้ใหญ่เป็นห่วงและบอกว่าต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ จนบางทีเกิดเป็นความขัดแย้งกับคุณพ่อคุณแม่”
ดังนั้น พญ.เบญจพร จึงแนะนำ 5 เทคนิคสอนลูกไม่ติดหวาน เพื่อให้เด็กๆ เติบ โตขึ้นมามีสุขภาพที่แข็งแรง และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ เริ่มจาก
1.เด็กเล็ก…วัยที่เหมาะสมกับการปลูกฝัง
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มปลูกฝังหรือฝึกพฤติกรรมการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มของลูกๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยคือ 1 ขวบขึ้นไปด้วยการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกกิน ไม่ติดหวาน กินอาหารที่หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เพราะในวัย 1 ขวบเป็นวัยที่เริ่มต้นฝึกกินเองได้แล้ว แต่ถ้าจะปลูกฝังตอนที่ลูกเป็นวัยรุ่นหรือเป็นเด็กโตจะยิ่งยาก เพราะเขาค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบให้ใครมาสั่ง หรือคอยควบคุม
2.คุณพ่อคุณแม่….ตัวอย่างที่ดีของลูกๆ
เพราะเด็กเรียนรู้ได้ดีจากสิ่งที่เขาเห็น พ่อแม่บอกลูกว่าอย่ากินของหวาน แต่ถ้าลูกเห็นพ่อแม่กิน ลูกๆ ก็จะไม่เชื่อฟังและกินตามคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เด็กติดหวาน ถือเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำเป็นตัวอย่างด้วย
3.คุณพ่อคุณแม่….ผู้เลือกอาหารให้ลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่เป็นคนเลือกอาหารให้ลูกกินตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเล็ก จึงควรเลือกอาหารที่ไม่หวานจัด หรือมีความหวานตามธรรมชาติ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เลือกได้ น่าจะเป็นความรับผิดชอบของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลเลือกให้เลยค่ะ
4.เปลี่ยนจากคำพูด และอารมณ์ที่รุนแรงเป็นคำพูดเชิงบวก…
ก็ช่วยให้ลูกไม่ติดหวาน
ง่ายๆ เพียงหาจุดดีๆ ของลูกๆ เวลากิน เช่น เวลาที่ลูกๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่หวานจัด คุณพ่อคุณแม่ก็พูดชมเชย พูดไปเลยว่าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกภูมิใจ รู้สึกปลื้มใจที่ลูกอดทนไม่กินของหวานมากๆ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ลูกมีกำลังใจมากขึ้นแล้ว
5.วางกฎระเบียบที่ชัดเจน…อย่าบังคับ
บางครั้งเด็กติดหวานมากๆ แล้วไปห้ามเลย เด็กจะต่อต้าน คุณพ่อคุณแม่ควรทำข้อตกลงหรือหาอาหารอร่อยๆ ที่มีประโยชน์ และไม่หวานมาก มาให้ลูกๆ กินทดแทน
เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่นำเทคนิคดีๆ ไปสอนลูก แค่นี้ลูกๆ ก็จะเป็นเด็กที่ไม่ติดหวาน และมีสุขภาพดีในอนาคตแล้วล่ะ