Thursday 2 May 2024 | 10 : 05 am

เปลี่ยนหัวหน้า ย้ายเจ้านาย…3 สิ่งที่ต้องทำเพื่อความประทับใจระยะยาว

ถ้าทำงานมานานพอหรือหลายที่พอ จะรู้ว่า ‘หัวหน้างาน’ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การทำงาน ลักษณะนิสัย จุดแข็ง จุดอ่อน ไปจนถึงระดับความสามารถ จนมีคำพูดที่ว่า “คุณไม่ได้อยากออกจากงานแย่ๆ แต่อยากออกจากหัวหน้าแย่ๆ”

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบัน ทำให้ทุกคนอาจจะเจอเข้ากับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงองค์กร การปลดคน ลดพนักงาน ไปจนถึงการปรับโครงสร้าง และพาเราไปเจอกับหัวหน้าคนใหม่หรือเจ้านายคนใหม่แบบไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน

ถ้ากำลังจะต้องเปลี่ยนหัวหน้างานเร็วๆ นี้หรือเป็นหนึ่งในคนกว่า 46% ที่วางแผนจะเปลี่ยนงานภายในครึ่งแรกของปี 2023 ที่การันตีว่า เราจะต้องเจอหัวหน้าใหม่แน่ๆ คุณอาจจะต้องการเคล็ดลับง่ายๆ 3 ข้อ เพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์กับหัวหน้าคนใหม่และสร้างความประทับใจระยะยาว

ข้อหนึ่ง สร้างความประทับใจแรกพบ

ถ้าการเปลี่ยนหัวหน้าครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนบริษัทใหม่ด้วย แน่นอนว่า เราจะต้องค้นหาข้อมูลบริษัทเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มงานอยู่แล้ว แต่จริงๆ สิ่งที่ควรทำเพิ่มอีกอย่างหรือควรทำในการเปลี่ยน ‘หัวหน้าใหม่’ หรือ ‘ทีมใหม่’  คือ การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับทีมงานและบุคคลที่เรากำลังจะร่วมงานด้วย ว่าหัวหน้าคนใหม่และทีมใหม่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานแบบใดมาบ้าง

ที่สำคัญ คือ ทันทีที่พบกับหัวหน้าคนใหม่ อย่าลืมที่จะเป็นมิตร เปิดเผย และซื่อสัตย์ ทั้งในสิ่งที่รู้และไม่รู้

ถ้านึกบทสนทนาที่ดีไม่ออก อาจจะเริ่มต้นด้วยการถามคำถามที่มั่นใจว่า จำเป็นจะต้องถามและไม่สามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ของบริษัท

อาจจะเลือกคุยถึงประเด็นการทำงานที่สนใจ จุดแข็งในการทำงาน หรือว่า เส้นทางการเติบโตที่วางแผนไว้ เพื่อแสดงความกระตือรือร้นและความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของทีมให้หัวหน้าคนใหม่เห็น

อย่าลืมเป็นตัวของตัวเองและไม่ฝืนทำในสิ่งที่ไม่เหมาะกับตัวเอง เพราะเรานำสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนใครมาให้กับทีม จึงไม่ต้องพยายามจะเป็นคนอื่น

ข้อสอง สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพ

ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับหัวหน้างาน คือ ความสัมพันธ์ในการทำงาน ดังนั้น จะต้องเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพ

วิธีการที่จะแสดงให้หัวหน้าคนใหม่เห็นว่าเรามีประสิทธิภาพ คือ จัดการงานให้ดีและมีความรับผิดชอบ รวมถึงแสดงให้หัวหน้าเห็นว่า เรายินดีที่จะรับผิดชอบงานมากขึ้น พร้อมจะเสนอตัวช่วยงานที่ถนัดเชี่ยวชาญ แต่ก็จะต้องไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่เจอกับเรื่องยากๆ จากหัวหน้าและทีม

นอกจากนั้น ยังควรแสดงให้หัวหน้าเห็นว่าเราสามารถโฟกัสและจัดลำดับความสำคัญของงานได้ดี เปิดกว้างต่อฟีดแบคและการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อเรียนรู้และเปิดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง

อีกอย่าง คือ ต้องเป็นมืออาชีพไปพร้อมๆ กับเป็นมิตร อ่อนน้อม และมองโลกในแง่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่สนับสนุนกันในทางบวก มองเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานในฐานะคนคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า

ข้อ 3 ตรวจเช็กและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากทำงานกับหัวหน้าใหม่สักระยะ อย่าลืมลองประเมินความสัมพันธ์ของตัวเองกับหัวหน้าคนใหม่ดู โดยเฉพาะในส่วนที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในระยะยาว

อาจจะลองปรึกษาเพื่อนร่วมงานว่า ถ้าประชุมแบบตัวต่อตัวกับหัวหน้า วิธีการแบบไหนใช้ได้ดีและลองนำมาปรับใช้ดูบ้าง รวมถึงเสนอให้มีการประชุมประเมินทุกโครงการกับหัวหน้าอย่างสม่ำเสมอ

แล้วยังควรจะประเมินความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและหัวหน้าเป็นประจำ อาจจะเป็นทุกเดือนหรือมากกว่านั้น วิธีแบบนี้จะทำให้เราทำงานร่วมกับหัวหน้าคนใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้และความสัมพันธ์ในที่ทำงานราบรื่นคล่องตัว มากกว่าการปล่อยให้ตัวเองคุ้นชินกับกิจวัตรในการทำงานที่คุ้นเคย

ความสัมพันธ์ของเรากับหัวหน้าอาจจะไม่ใช่ทุกอย่างในการทำงาน แต่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้การทำงานราบรื่น มีประสิทธิภาพ และเปิดทางให้เราได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา เป็นรากฐานที่ดีในการทำงานร่วมกันในระยะยาว

บทความจาก SEAC (ซีแอค) ผู้นำด้านการพัฒนาผู้นำ บุคลากร และองค์กร ด้วย Smart Learning เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่นำไปใช้จริง

เปิดเวที ‘Gourmet & Cuisine Young Chef 2024’ เฟ้นหาเชฟเยาวชนรุ่นใหม่ สู่เชฟมืออาชีพ ...

ใกล้เข้ามาแล้วกับเวทีการแข่งขันทำอาหารระดับอุดมศึกษา “Gourmet & Cuisin...