Saturday 20 April 2024 | 10 : 44 pm

สายนั่งเรือต้องรู้!! เรือโดยสารควรมีประกันภัยทุกลำ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการเดินทาง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ เพื่อใช้เดินทางไปทำงาน ไปเรียน หรือไปต่อรถประจำทาง แต่เคยรู้หรือไม่ว่า สิ่งสำคัญที่ผู้โดยสารเรือไม่ว่าจะขาจรหรือขาประจำควรตรวจสอบและเข้าใจถึงสิทธิคุ้มครองเรื่องความปลอดภัยที่เราควรได้รับนั่นก็คือ เรือโดยสารทุกลำควรมีการทำประกันภัย ซึ่งสามารถครอบคลุมความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานตามกฎหมาย จากกรณีเสียชีวิต ได้ถึงคนละ 100,000 บาท

จากการศึกษาของ นักศึกษาชั้นปริญญาตรี โครงการหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต (ภาคพิเศษ) สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดทำโครงการ “การสื่อสารเพื่อการรณรงค์ สร้างการรับรู้ เรื่องการประกันภัยสำหรับผู้โดยสารเรือโดยสารรับจ้าง” ในรายวิชาการสื่อสารเพื่อการรณรงค์ นำโดย คุณอภิชา สุขสิริพร หัวหน้าโครงการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุระชัย  ชูผกา อาจารย์ผู้สอนประจำวิชา ที่ปรึกษา ซึ่งจากการจัดทำโครงการดังกล่าว ได้เห็นความสำคัญในเรื่องการทำประกันภัยเรือโดยสาร โดยระบุตามข้อกฏหมายว่า “ตามกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2535) กำหนดให้เจ้าของเรือผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารรับจ้าง ที่รับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร จัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุที่มีผลคุ้มครองผู้โดยสาร ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตใช้เรือ ดังนั้นเจ้าของเรือที่เข้าเกณฑ์ตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงต้องทำประกันภัย ประโยชน์ที่เจ้าของเรือจะได้รับคือในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อันเป็นผลมา จากการกระทำของเจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือ จะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บาดเจ็บทั้งหลาย หากเจ้าของเรือได้มีการทำประกันภัยไว้ก็จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเรือ”

และแน่นอนว่าเมื่อเรือโดยสารได้มีการทำประกันภัยแล้วนั้น ย่อมคุ้มครองผู้โดยสารอย่างเราได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการใช้บริการเรือโดยสาร จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยจำนวนเงินประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครองมีดังต่อไปนี้ เสียชีวิต คนละ 100,000 บาท, สูญเสียตาหรือสายตาสองข้าง คนละ 100,000 บาท, สูญเสียแขนหรือขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาสองข้าง คนละ 100,000 บาท, สูญเสียแขนหรือสมรรถภาพในการใช้แขนหนึ่งข้าง และสูญเสียขาหรือสมรรถภาพในการใช้ขาหนึ่งข้าง คนละ 100,000 บาท, สูญเสียแขนหรือขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง และสูญเสียตาหรือสายตาหนึ่งข้าง คนละ 100,000 บาท,ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คนละ 100,000 บาท (ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตลอดไป), สูญเสียตาหรือสายตาหนึ่งข้าง คนละ 60,000 บาท, สูญเสียแขนหรือขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง คนละ 60,000 บาท และ ค่ารักษาพยาบาล คนละไม่เกิน 15,000 บาท กรมธรรม์นี้ให้ความคุ้มครองหลักเฉพาะต่อผู้โดยสาร แต่ผู้เอาประกันภัยสามารถขอขยายความคุ้มครองเพิ่ม ถึงคนประจำเรือได้ โดยการจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม โดยเรือทุกลำจะใช้กรมธรรม์มาตรฐานเดียวกัน

โดยจากการสำรวจการรับรู้ของผู้โดยสารกรณีประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารเรือ ในคลองแสนแสบ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ ไม่ทราบข้อมูลเรื่องการประกันภัยผู้โดยสารเรือ  และผู้ให้บริการไม่มีการจัดทำสื่อเพื่อให้ข้อมูลกับผู้โดยสารทั้งทีมีผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นผู้ให้บริการเรือจึงต้องเล็งเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยและทำสื่อแจ้งให้ผู้โดยสารเรือทราบ อีกทั้งผู้โดยสารเรือก็ควรมีการตรวจสอบหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับเรือที่โดยสารว่ามีการทำประกันภัยไว้หรือไม่เพื่อสิทธิประโยคคุ้มครองความปลอดภัยในการเดินทางในชีวิตประจำวัน

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

https://shorturl.asia/tx2DBการประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร

การประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร

ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้เจ้าของเรือโดยสารทุกลำต้องจัดให้มีการ ประกันภัยให้แก่ผู้โดยสาร เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้โดยสารเรือว่า ในกรณีที่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสารเรือได้รับบาดเจ็บ จะมีผู้ที่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเรืออย่างน้อยที่สุด จำนวนหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทางการเงินของทั้งผู้ประสบภัยและเจ้าของเรือ

เรือสำหรับโดยสาร หมายถึง เรือประเภทใดบ้าง

เรือโดยสาร ที่เข้าลักษณะต้องทำประกันภัยนั้น หมายความถึง เรือที่ระบุประเภทการใช้ไว้ในใบอนุญาตใช้เรือให้เป็นเรือประเภทเรือโดยสาร หรือเรือประเภทอื่นที่อนุญาตให้ใช้บรรทุกผู้โดยสารได้ด้วย ทั้งนี้ เป็นการบรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเรือโดยสารนั้นจะวิ่งในเส้นทางใด ทั้งในคลอง ในแม่น้ำ ระหว่างแม่น้ำและทะเล และในทะเลด้วย

แนวทางปฏิบัติในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีที่ผู้โดยสารประกันภัยจากเรือที่มีประกันภัยนั้น เจ้าของเรือผู้เอาประกันภัย จะต้องนำส่งหลักฐาน เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุและเอกสารเกี่ยวกับผู้โดยสารที่ประสบภัยโดยในกรณีที่มีการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ต้องส่งหลักฐานให้แก่บริษัทประกันภัยภายใน 30 วัน นับจากวันที่เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และในกรณีบาดเจ็บ ต้องส่งหลักฐานภายใน 180 วัน นับจากวันเกิดอุบัติเหตุ

ในกรณีที่เรือโดยสารลำใดไม่มีการประกันภัย เจ้าของเรือจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้โดยสารเรือ

การกำหนดเบี้ยประกันภัยและประโยชน์ในการทำประกันภัย

เนื่องจากกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2549) กำหนดให้เจ้าของเรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสาร ต้องจัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุที่มีผลคุ้มครองผู้โดยสาร ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตใช้เรือ ดังนั้น เจ้าของเรือที่เข้าเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ดังกล่าวจึง ต้องทำประกันภัย

สำหรับเบี้ยประกันภัยที่เจ้าของเรือจะต้องจ่ายนั้น สำหรับการทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น เส้นทางการเดินเรือ (ในคลอง หรือในแม่น้ำระหว่างแม่น้ำและทะเล หรือในทะเล) ขนาดและชนิดของเรือรวมทั้งจำนวนผู้โดยสารในเรือลำนั้น ๆ ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยจะเป็นดังนี้

– จำนวนผู้โดยสาร 1-12 คน อัตราเบี้ยปรับอยู่ระหว่าง 50-80 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คนต่อปี

– จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ 13 คนขึ้นไป อัตราเบี้ยปรับอยู่ระหว่าง 100-150 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คนต่อปี

ดังนั้น หากเรือลำใดสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ครั้งละ 20 คน เบี้ยประกันภัยที่เจ้าของเรือลำนั้นจะต้องจ่ายคือ ประมาณ 2-3 พันบาทต่อปี ประโยชน์ที่เจ้าของเรือจะได้รับคือ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการกระทำของเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของเรือจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บาดเจ็บทั้งหลาย หากเจ้าของเรือได้มีการทำประกันภัยไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของเรือในการบรรเทาความเดือนร้อน ทางด้านการเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยให้แก่ผู้ประสบภัย

สำนักงานสลากฯ เปิดตัว โครงการ SEED PROJECT ปี 4 ‘สร้างผู้นำเยาวชน พาท้องถิ่นสู่สากล’

พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ จีแอลโอ เดิน...