กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดเวทีประชุมวิชาการ “เวทีสานพลังวิจัย สู่การปฏิบัติจริง: เมื่อสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ออกแบบอนาคตประเทศไทย” ในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00–16.30 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ เวทีครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้าน SHA (Social Sciences, Humanities, and Arts) สู่การใช้ประโยชน์จริง ทั้งเชิงนโยบาย เชิงพื้นที่ และเชิงสังคม โดยสอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ผ่านการบูรณาการพลังความรู้จากทุกภาคส่วน

หนึ่งในไฮไลต์ของงานคือ ปาฐกถาพิเศษ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในหัวข้อ “สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว”
ซึ่งกล่าวถึง มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะนำประเทศของเราก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร” โดยให้ความสำคัญของการพัฒนาแบบสมดุลระหว่างความรู้ “สองขา” — ทั้งด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ควรเดินควบคู่กัน
“STEM สอนเรา วิธีการสร้าง แต่มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สอนเรา สร้างอะไร สร้างเพื่อใคร และสร้างทำไม” — ศ. พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนกฯ ย้ำว่า ประเทศไทยต้องไม่มองมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นเพียงศาสตร์เสริม แต่ต้องถือเป็นแกนกลางของการกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวดเร็ว หากไม่มี “พวงมาลัย” ที่ชี้ทางจากศาสตร์แห่งจริยธรรม ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ไทย เทคโนโลยีอาจกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนผิดทิศได้
“ประเทศที่เจริญที่สุด ไม่ใช่ประเทศที่มีแต่วิศวกร แต่เป็นประเทศที่วิศวกรและนักประวัติศาสตร์เดินไปด้วยกัน” พร้อมเสนอ 6 แนวทางเชิงนโยบาย ได้แก่ การเพิ่มทุนวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ การบูรณาการปรัชญาในหลักสูตร STEM การฟื้นฟูวัฒนธรรมอย่างมีอัตลักษณ์ และการเปลี่ยนมายเซ็ตของสังคมให้เห็นว่างานวิชาการก็สนุกและมีจินตนาการได

ศ.พิเศษ ดร.เอนก ให้โจทก์ท้าทายว่า อยากจะเห็นแผนงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สำเร็จภายในปี 2580 คืออยากให้งานด้านนี้สำเร็จลุล่วงและนำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สำคัญเราต้องทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนงานอย่างมีกลยุทธ์และต้องมองบริบทอย่างรอบด้านมองทั้งบริบทไทยและต่างประเทศทำงานต้องทำให้เร็วต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจที่เราทำอยู่และมีความรับผิดชอบต่องบประมาณที่เราได้รับ
อยากให้นักวิจัยไทยและนักวิชาการไทยเชื่อมั่นในความเก่งของตัวเองเชื่อมั่นในความรู้และต้องเอาความรู้มาใช้ให้ได้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและที่สำคัญคืองานทั้งสามด้านต้องบูรณาการไปด้วยกันต้องไม่คิดแยกส่วนเพราะถ้าแยกส่วนจะไม่เกิดพลัง
รวมถึงการมองปัญหาให้เป็นโอกาสที่สำคัญอยากให้นักวิชาการไทยส่งออกความรู้ใหม่ใหม่ไปให้ทั่วโลกได้รับรู้ และอยากให้สื่อสารถึงความงดงามตลอดจนคุณค่าความเป็นไทย ไปให้สากลโลกได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมรับมือกับอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
และสร้างเศรษฐกิจบนฐานคุณค่าและคุณภาพ ด้วยพลังจากวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องผสาน “ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เข้ากับ “ความเข้าใจมนุษย์ผ่านศาสตร์ด้าน SHA” เพื่อสร้างสังคมที่มีทั้งขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ และความงอกงามทางอารยธรรม
ศ.ดร.สมปอง กล่าวเสริมว่าหนึ่งในความสำเร็จเชิงรูปธรรมของงานวิจัยทางสังคมไทย ภายใต้โครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ” ที่พิสูจน์ว่า งานวิจัยสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง โดยเฉพาะในสังคมสูงวัยที่กำลังทวีความสำคัญในประเทศไทย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ววน.) ซึ่งได้รับการสนับสนุน โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่าน กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตั้ งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่มุ่งเปลี่ยน “ผู้สูงอายุ” ให้กลายเป็นพลังของชาติ “เกษียณมีดี” เทคโนโลยีที่เข้าใจผู้สูงวัย หนึ่งในหัวใจของความสำเร็จคือการพัฒนา แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ผ่านแอปพลิเคชัน “เกษียณมีดี” บน Line และ Facebook ที่ออกแบบอย่างเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของผู้สูงวัย ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงความรู้ ทักษะ และตลาดออนไลน์ได้ง่ายดายโดยไม่ต้องมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาก่อน
Impact ที่สัมผัสได้จริง: ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่คือโอกาส
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจาก “มีดี” ไม่เพียงเป็นตัวเลข แต่คือการยกระดับชีวิต
• ผู้สูงวัย เข้าร่วมโครงการกว่า 12,782 คน
• สร้างรายได้เฉลี่ย 7,987.50 บาท/เดือน ผ่านตลาดออนไลน์ “มีดี: ตลาดคนมีดี”
• ผู้เข้าร่วมบางรายมีรายได้สูงสุดถึง 30,000 บาท/เดือน
• มีเครือข่าย โรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุ 42 แห่ง
• เชื่อมโยงกับ หน่วยงานราชการท้องถิ่น 58 แห่ง
• ผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อมกว่า 19,886 คน

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายและการขับเคลื่อนงานด้าน SHA” “มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) ไม่ใช่แค่ศาสตร์แห่งความงามหรือความเข้าใจมนุษย์ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบอนาคตของประเทศไทย”
โดยในช่วงบ่ายมีกิจกรรม Workshop และการระดมสมอง ในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้าน SHA” ซึ่งจะเปิดพื้นที่ให้นักวิจัย ภาคนโยบาย และ ภาคปฏิบัติ ได้ร่วมกันเสนอแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้จริง
อย่างไรก็ดีเวทีนี้จึงเป็นมากกว่างานสัมมนา แต่คือ “พื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่สะท้อนให้เห็นว่า งานวิจัยด้าน SHA มีพลังในการยกระดับชีวิตคนไทยทุกช่วงวัย, เพิ่มรายได้, สร้างโอกาส, และ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเข้าสู่สังคมอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ดร.สุรชัย กล่าวทิ้งท้าย โดยได้ฉายภาพบริบทเชิงนโยบาย และทิศทางที่สอวช. และ สกสว. จะดำเนินการร่วมกันในแง่ของการพัฒนางานด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ซึ่งสอวช. ก็กำลังอยู่ในช่วงบูรณาการความรู้ต่างๆ ให้เข้ากันกับบริบททางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยที่ สอวช. จะพยายามพัฒนาอีโคซิสเต็มส์หรือระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานทั้งสามด้านดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คุณรพีพร สิทธิ โทร : 085 045 1336