Thursday 28 March 2024 | 4 : 28 pm

อสป. ผนึก สพฉ. ยกระดับคุณภาพชีวิตประมงไทย ปูพรมสะพานปลา-ท่าเทียบเรือประมง 18 แห่ง ให้ความรู้-ทักษะปฐมพยาบาลเบื้องต้น

องค์การสะพานปลา เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงและกิจการประมงไทยเต็มสูบ จับมือ สพฉ.ให้ความรู้ พร้อมวิธีปฏิบัติการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อดูแลตนเองและลูกเรือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุและประสบภัยทางทะเล ลดบาดเจ็บ และเสียชีวิต ปักหมุดทุกพื้นที่สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ   

ผู้สื่อข่าวรายงานจากองค์การสะพานปลา (อสป.) ว่า ขณะนี้ อสป.ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงและกิจการประมง เพื่อให้ชาวประมงได้รู้วิธีการปฏิบัติในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายวัชรวิชญ์ กีรติดุสิตโรจน์ รองผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ด้านพัฒนากิจการประมง (อสป.) และเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นผู้ลงนาม ที่สะพานปลาสมุทรสาคร

โดยนายวัชรวิชญ์ กีรติดุสิตโรจน์ รองผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ด้านพัฒนากิจการประมง (อสป.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ครั้งนี้ เพื่อให้ชาวประมงและชาวประมงพื้นบ้าน มีทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการดูแลตนเองและลูกเรือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือประสบภัยทางทะเล เช่น จมน้ำ หรือได้รับความบาดเจ็บต่างๆ   

“ยอมรับว่าที่ผ่านมาการยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน อสป.ให้ความสำคัญกับทางบกเป็นหลัก ซึ่งทางน้ำมีบ้าง แต่ยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ คือ พี่น้องชาวประมงได้รับความบาดเจ็บ และเสียชีวิต เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงฤดูมรสุม และมักจะเกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  เนื่องจากไม่รู้วิธิปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี อสป.จึงเล็งเห็นความสำคัญ ด้วยการปรับแผนใหม่ พร้อมร่วมมือกับ สพฉ. เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงและกิจการประมงไทย รวมถึงชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะมุ่งเน้นในทุกพื้นที่ของสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงทั้ง 18 แห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงและกิจการประมง ที่จะทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมง ผู้ประกอบกิจการประมง ผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ประชาชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงความปลอดภัย การป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งถือเป็นการบูรณาการและต่อยอดงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในการวางแนวทางและมาตรฐานการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อพัฒนากิจการประมงให้ขยายผลออกไปในวงกว้าง และเป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป

นายวัชรวิชญ์ กล่าวต่อว่า อสป. เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหลักในการให้บริการใช้สถานที่ เป็นตลาดกลางซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ อีกทั้งยังมีการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการแก่ชาวประมง กิจการแพปลา ซึ่งปัจจุบันการประกอบอาชีพทำประมง มีความเสี่ยงมาก ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า(COVID– 19) จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมง การให้ความรู้ในการป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉิน การพัฒนาทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพฉุกเฉิน และการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างถูกต้องและทันท่วงที