Monday 9 December 2024 | 6 : 05 pm

สร้างสรรค์ศิลปะลงบนงานเซรามิก

คนรุ่นใหม่ผู้มีแนวคิดนอกกรอบทั้งการทำงานและความรักในศิลปะ นกหวีด-หิรัณย์ ชัยชนะ สร้างงานอดิเรกของตัวเองด้วยการเรียนรู้และลงมือทำ จนเกิดเป็นสินค้าเซรามิกผสานงานศิลปะแบบนอกกรอบซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร จนสร้างรายได้เสริมและสร้างชื่อเสียงให้ผู้คนเริ่มรู้จักผลงานของเขามากขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเรียนจบสาขาบริหารการโรงแรม จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย อัญสัมชัญ (เอแบค) เมื่อเรียนจบมาก็เข้าไปฝึกงานที่โรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มงานในแผนกเซล แต่พอทำได้สักพักใหญ่ผมก็รู้สึกเบื่องานที่ต้องอยู่แต่ในตึก ก็เลยหันไปทำงานเป็นเออีของบริษัทออร์แกไนเซอร์และงานอื่นรวมๆ แล้ว 10 ปีได้ แต่วันหนึ่งผมก็รู้สึกว่า การทำงานประจำมันไม่มีเพดานชีวิตและรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขนักกับการทำงานประจำ ผมจึงตัดสินใจลาออกมาเพื่อจะใช้เวลาในการตกผลึกกับชีวิตของตัวเอง ว่าต้องการอะไร

อันที่จริงแล้วครอบครัวผมมีร้านขายของชำและธุรกิจบ้านเช่าในย่านแบริ่งอยู่ด้วย เมื่อลาออกมาอยู่บ้าน ผมก็ช่วยคุณแม่ดูแลธุรกิจของครอบครัวบ้าง แต่แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ชีวิตตัวเองจะสโลว์ไลฟ์มากเกินไปแล้ว มีข้าวกิน จะตื่นกี่โมงก็ได้ แต่ก็ยังรู้สึกว่าธุรกิจของครอบครัวนั้นมันเป็นของคุณแม่ ตัวเองเลยอยากจะหาอะไรทำดูบ้าง ผมจึงตัดสินใจไปเรียนปั้นถ้วยชามหรือทำงานเซรามิกที่ ‘ชาญเริญ สตูดิโอ’ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศิลปะที่อยู่แถวเสาชิงช้า”

นกหวีดบอกว่า ช่วงแรกเขาก็อยากเรียนการวาดภาพสีน้ำมันและวาดลายไทย แต่พอคิดได้ว่า เมื่อวาดภาพเสร็จแล้วก็แค่แขวนไว้ดูได้เท่านั้น ภาพวาดไม่มีฟังก์ชั่นที่สามารถจะใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เขาจึงเปลี่ยนไปเลือกเรียนการทำเซรามิก แทน

“ผมรู้สึกว่าการเรียนทำเซรามิกมันมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่น่าจะมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันเยอะ เมื่อเรียนแล้วเราสามารถทำแก้ว ถ้วย จาน ชาม เป็นของตัวเองแล้วนำมาใช้ได้เลย ดังนั้นผมจึงเริ่มเรียนตั้งแต่การปั้น ต่อด้วยการลงสี และการนำไปเผาในเตาอบ ส่วนรูปทรงภาชนะที่เราปั้นออกมานั้นก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะปั้นให้มีรูปทรงอย่างไร การได้มาเรียนทำให้ผมยิ่งแน่ใจว่าตัวเองชอบงานเซรามิกซะแล้ว

ต่อมาผมมีรุ่นพี่ที่รู้จักกันซึ่งเป็นดีไซเนอร์ มาชวนไปเรียนปั้นเซรามิกที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งต้องเรียนนาน 6 เดือน แต่ผมก็บอกกับอาจารย์ว่า ผมมีเวลาเรียนแค่ 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งอาจารย์ก็ยินดีสอนให้ งานเซรามิกชิ้นแรกของผมหลังจากได้มาเรียนที่นี่ก็คือ ภาชนะแบบฟรีฟอร์มคล้ายชามที่เป็นกระถางปลูกต้นไม้ ซึ่งมีความพลิ้วไหวของลายเส้นที่มีความบาลานซ์กันได้อย่างลงตัว ซึ่งอาจารย์บอกว่านี่แหละคือตัวตนของเรา”

นกหวีดบอกว่า ตลอด 4 เดือนเขาได้เรียนรู้การเลือกลักษณะเนื้อดินที่จะปั้น การเตรียมดินที่จะปั้นให้เนื้อเนียนไม่มีฟองอากาศตอนปั้น การทำน้ำเคลือบภาชนะ รวมทั้งเทคนิคการขึ้นรูป ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นและสำคัญในการทำเซรามิก

“แล้วผมได้ค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงของเราก็คือการปั้นดินซึ่งสามารถทำให้เป็นรูปทรงอิสระตามที่เราพอใจ เมื่อกลับมาอยู่บ้านผมก็ลองทำเซรามิกสไตล์ตัวเองที่เน้นพื้นผิวส่วนใหญ่ออกมาเป็นสีคราม เมื่อนำไปออกร้านขายในโซนงานฝีมือที่ ดิ เอ็มควอเทีย ปรากฏว่างานเซรามิกของเราได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า โดย 95% จะเป็นคนไทยที่รักในงานศิลปะ

งานนั้นนำเซรามิกไป 40 ชิ้นก็ขายได้ทั้งหมด เช่น แก้วน้ำ ที่รองแก้ว ชามใบใหญ่ กระถางต้นไม้ ซึ่งทั้งหมดมีสีสัน ลวดลาย และรูปทรงแบบฟรีฟอร์มไม่ซ้ำใคร จึงเป็นที่ถูกใจบรรดาลูกค้าพรีเมียมที่รักงานศิลปะเป็นอันมาก แถมตอนซื้อก็ไม่เคยต่อราคาเลยละ

ต่อมาผมก็ลองพัฒนาลวดลายของจาน ชาม ให้มีลวดลายหินอ่อน (Mable) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแน่นอนว่าต้องเป็นสีคราม (Indigo) ด้วยเช่นกัน ด้วยความที่ผมทำเซรามิกเป็นงานอดิเรก ดังนั้นจึงยังไม่มีหน้าร้านที่วางขายสินค้าโดยตรง ส่วนใหญ่จะขายผ่านออนไลน์คือ Fanpage FB : absurd fox และ IG : absurd.fox มากกว่า”

นกหวีดทิ้งท้ายว่า เพราะมีเพื่อนเป็นพีอาร์ของห้างดังอย่างสยามพากอน และดิ เอ็มควอเทีย และเคยเป็นศิษย์เก่าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ฉะนั้นพอมีการออกบูธที่ไหนเขาก็จะได้รับการชักชวนให้ไปออกร้านขายเซรามิกเสมอ

“สำหรับราคาเริ่มต้นของเซรามิกแบรนด์แอ็บเซิร์ด ฟ็อกซ์ จะเริ่มต้นที่ 200-3,000 บาท โดยรายได้ 10% ที่ได้จากการขายทุกครั้ง ผมจะนำไปบริจาคให้กับ รพ.ศิริราช และรพ.รามาฯ เพื่อช่วยเหลือด้านการกุศลด้วย การทำเซรามิกขาย สำหรับผมมันอาจจะไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยมากนัก แต่ที่ผมทำเพราะรู้สึกมีความ สุขทุกครั้งที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่สำคัญยังทำให้ผมมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นและสามารถดูแลคุณแม่ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย”

Green Festival 2024 ‘No Tree, No Breath, No Life’ เพราะต้นไม้คือชีวิต คือลมหายใจ ในวันศุ...

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง, กลุ่มบิ๊กทรีส์, สมาคมรุ...