Saturday 7 December 2024 | 9 : 18 pm

ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร ปั้นโลกใบกลม ‘ส้มพาสุข’

เราเริ่มต้นบทสนทนาระหว่างใช้ตะเกียบคีบชิ้นเนื้อวากิว A5 ลงในหม้อเดือดน้ำซุปยูซุ…ด้วยคำว่า ‘เหนื่อย’ พร้อมอมยิ้มเบาๆ

“ทุกครั้งที่เหนื่อย ผมจะไม่รู้ตัวว่าเหนื่อย เพราะถ้าเหนื่อยจะต้องพัก แต่ผมไม่ต้องพัก ก็แสดงว่าไม่เหนื่อย” ชายหนุ่มพูดกลั้วหัวเราะอย่างคนอารมณ์ดี ซึ่งเราเห็นพ้อง และรู้สึกกับคำว่า ‘เหนื่อย’ เปลี่ยนไป มันฟังดูเบานุ่ม เคี้ยวง่าย เหมือนชิ้นเนื้อสไลด์ที่ละลายหายเข้าไปในปากอย่างไรอย่างนั้น

มิน-ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร หรือที่ทุกคนถนัดเรียกว่า ‘มิน ยูซุ’ คือผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการปลุกปั้นแบรนด์ YUZU GROUP ในนาม บริษัท ส้มพาสุข จำกัด เจ้าของเชนร้านอาหารกว่า 12 แบรนด์ โดยเริ่มต้นจาก Yuzu Ramen ที่สยามสแควร์ ตามมาด้วยหลากหลายแบรนด์และประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสุกี้ ซูชิ โอมากาเซะ ไก่ทอด ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม ฯลฯ ยึดหัวหาดอยู่ใจกลางย่านสยามสแควร์ ก่อนกระจายไปทั่วย่านสำคัญกลางกรุง อย่างทองหล่อ อารีย์ สุขุมวิท และกำลังมีแผนสยายปีกออกไปทั่วกรุงเทพมหานครและชานเมือง

แก้เกมคน

จุดเริ่มต้น YUZU GROUP ครั้งยังเป็นธุรกิจเล็กๆ สามารถควบคุมคุณภาพและบริหารงานร้านอาหารด้วยตนเอง สู่การขยายงานและเติบโตแบบก้าวกระโดด ปรมินทร์ในวันนี้มีความกังวลใจอะไรมากที่สุด

“ตอนนี้ผมมีโจทย์ที่ต้องแก้เกมในเรื่องคน เพราะมิติการบริหารงานเปลี่ยนไป จึงต้องมีความพยายามมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปัจจุบันเรามี Leader เข้ามาร่วมงานในหลายส่วน เพราะผมคงทำเองทั้งหมดไม่ได้ จึงจำเป็นต้องสื่อสารกับ Leader อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์และสิ่งที่ต้องการสูงสุด ครับ…ผมกำลังสู้กับตัวเองในเรื่องการบริหารคน”

ความกังวลใจดังกล่าวไม่เคยเกิดมาก่อนหน้า หรือแต่แรกครั้งเปิดตัว Yuzu Ramen ขึ้น เมื่อ 5 ปีก่อน

“สาขาแรกผมเป็นคนบริหารจัดการด้วยตัวเอง ตามมาด้วยสาขา 2 สาขา 3 มิติการบริหารก็ยังไม่ได้เยอะขนาดนี้ ทำมาจนถึงปีที่ 4-5 ก็ยังไหว ยังแบ่งสมอง Mental Bandwidth ได้ (แบนด์วิดทางจิต คือทรัพยากรการประมวลผลสมองอย่างมีสติ เพื่อทํางานที่มีอยู่ให้สําเร็จ) แต่ตอนนี้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด มีงานหลายส่วนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการวางแผนทรัพยากรคนอย่างมีประสิทธิภาพ และดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน เมื่อทุกคนรู้หน้าที่และทำมันอย่างเต็มความสามารถ ผมก็หวังว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะถอยออกมาดูในส่วนงานกลยุทธ์ ยังคงลงมือทำเหมือนเดิม แต่เป็นการทำในอีกมิติหนึ่ง”  ปรมินทร์เล่าต่อว่าเขาให้เวลาตัวเองทำสำเร็จภายใน 1-2 ปี

หากเปรียบการทำธุรกิจกับการขึ้นและลงบันได ถามว่าเขาชอบเดินขึ้น หรือเดินลงบันไดมากกว่า ‘มิน ยูซุ’ นิ่งคิดสักพัก ก่อนระบายยิ้มกว้างและให้คำตอบ

“ผมไม่ได้ชอบการเดินขึ้นหรือเดินลงบันได เพราะถ้าเลือกได้ก็อยากจะนั่งเกี้ยว” จบประโยคเขาหัวเราะ “เพราะรู้สึกว่าตอนเดินลงบันไดก็ต้องคิด หากเดินไม่ดีก็กลัวตกบันได เปรียบกับการทำธุรกิจก็คือคิดเรื่องความเสี่ยง ซึ่งถ้าเลือกได้ ก็อยากไต่ขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ เหมือนกับการเดินขึ้นบันไดของ YUZU GROUP” 

‘ลูกค้า’ สำคัญสุด

“ร้านแรกของผม Yuzu Ramen คือดีมาก เราเป็นเจ้าแรกของไทยที่ผสมส้ม Yuzu ลงในราเมง ตอนนั้นได้กระแส มีลูกค้าเต็มตลอด ทำให้ผมมีทุนไปทำอย่างอื่นต่อ การผสม Yuzu เกิดจากตอนนั้นผมอยากทำร้านอาหาร แต่จะทำอะไรดีที่ยังไม่มีใครทำ ซึ่งตัวเองเป็นคนชอบกินซุปอยู่แล้ว มีโอกาสได้ไปกินราเมงที่ผสม Yuzu จากหลายที่ ในหลายประเทศ ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มี ก็เลยตัดสินใจทำดีกว่า ซึ่งตอบโจทย์ เพราะคนไทยชอบกินอาหารรสจัด ผมเลยอยากทำราเมงที่รสจัด ขณะที่สมัยก่อนราเมงบ้านเรารสชาติจืด”

ใครๆ ก็รู้ว่าธุรกิจร้านอาหาร เป็นธุรกิจน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) ที่มีการแข่งขันมากที่สุด แล้วอะไรทำให้เขาเริ่มต้นธุรกิจดังกล่าว

“พี่สาวผมทำร้านอาหารชื่อ ‘Nice Two Meat u’ อยู่ที่สยามสแควร์ และเห็นว่ามีตึกตรงกันข้าม นี่คือสาเหตุว่าทำไมผมถึงมาทำร้าน ‘Yuzu Ramen’ ที่สยาม ปีแรกมีพี่สาวช่วยแนะนำ ช่วยสอนในเรื่องธุรกิจร้านอาหาร สอนรายละเอียด ที่เน้นย้ำกับผมมาตลอดคือลูกค้าสำคัญมากที่สุด เพราะพวกเขามีโอกาสจะไปกินร้านอาหารอื่นซึ่งมีอยู่เยอะแยะมากมาย แต่กลับเลือกมากินที่ร้านเรา 

“ทุกคนที่เข้ามาในร้านจะต้องรู้สึกประทับใจเท่านั้น ถ้ามีคนกินอาหารไม่หมดนี่ไม่ได้เด็ดขาด ตอนนั้นผมเพิ่งกลับจากเรียนปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่เคยทำธุรกิจ คิดในใจ…อะไรวะ แต่ถ้าไม่ใช่เพราะพี่สาวผมในวันนั้น คงไม่มี ‘มิน ยูซุ’ ในวันนี้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลับมา ยกตัวอย่างเช่น เขาจะไม่ยอมเลยนะครับ ถ้าลูกค้ากินอาหารไม่หมด จะต้องหาสาเหตุให้ได้ พร้อมกับแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก

“พี่สาวพูดและกำชับกับผมว่า มินต้องไปอยู่ร้านตั้งแต่เช้าจรดเย็นนะ ซึ่งผมทำอย่างนั้นอยู่ทั้งปี ตั้งแต่เปิดร้านถึงเที่ยงคืน อยู่ร้านตลอด คอยดูว่าลูกค้ากินหมดไหม ต้องการอะไรเพิ่ม หรือมีคอมเมนต์เกี่ยวกับอาหารและบริการว่าอย่างไรบ้าง”

ส่วนนิสัยรักการกิน เขาถูกปลูกฝังและเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น “คุณพ่อผมชอบพาไปกินอาหารนอกบ้าน จนอาม่าดุ” ชายหนุ่มเปิดประเด็น “เป็นเรื่องตลกที่เล่าให้หลายคนฟังบ่อย ตั้งแต่ผมจำความได้คุณพ่อไม่เคยกินข้าวของที่บ้านเลยสักมื้อ อาจจะมีบางเมนู หรือนานๆ ครั้งที่กิน ท่านชอบซื้อ Street Food จากข้างนอกมาไว้ที่บ้านให้ทุกคนกิน ทุกๆ วันเสาร์ อาทิตย์ ภาพที่จำติดตาคือตื่นมาจะได้กินข้าวที่คุณพ่อซื้ออย่างไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหน้าเป็ดเจ้าดัง ลูกชิ้นปิ้ง ขนมครก บะหมี่ลูกชิ้นปลาทำเอง และอีกมากมาย

“ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสพ่อจะชวนผมและที่บ้านนั่งรถออกไปกินร้านก๋วยเตี๋ยวใหม่ๆ หรือเจ้าเก่าแก่เสมอ ต่อให้ต้องนั่งรถออกไปเป็นชั่วโมงๆ ก็ยอม ผมกล้าพูดว่า ผมยังไม่เคยเจอใครเป็น Guru Street Food เท่าคุณพ่อเลย”

เขานั่งนึกย้อนอดีต 3 วินาที ก่อนจะเล่าด้วยน้ำเสียงเหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน “ไม่อร่อยไม่กิน…เป็นคำพูดติดปากของคุณพ่อเสมอเวลาออกไปลองร้านใหม่ๆ ท่านจะมีคำสอนเสมอเวลาไปกินอาหาร เช่น “เจ้านี้ดี ลูกชิ้นปลาทำเอง เนื้อแน่น” “ก๋วยเตี๋ยวน้ำซุปต้องร้อน” “ข้าวผัดที่อร่อยต้องมีกลิ่นหอมกระทะ” ผมเชื่อว่าตัวเองได้รับความรู้ และความคลั่งไคล้ในอาหารจากคุณพ่อเยอะมากๆ ซึ่งปลูกฝังให้ผมชอบกินอาหารในวันนี้”

มุดใต้ดิน ปีนกำแพง

ครั้งวิกฤตโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ที่ทำเอาทุกร้านอาหารประสบปัญหาและขาดสภาพคล่อง บ้างต้องปิดตัว หาทางออกได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง สำหรับเครือ YUZU GROUP ภายใต้การบริหารงานของปรมินทร์ เขาและทีมงานสู้ยิบตาจนผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ ด้วยการปลุกพลังทีมให้เชื่อมั่น ต่อสู้ อย่ามองเห็นแต่ปัญหา แต่ให้ช่วยกันหาทางออก

“เปรียบกับการเล่นสกี ตาเราต้องไม่มองแต่ต้นไม้ ตาเราต้องมองทาง ปัญหาคือต้นไม้ที่อยู่เบื้องหน้าเรานั่นละ เหมือนกันกับโควิด เปรียบเป็นกำแพงสูงมากั้นทางออกไว้ เราก็แค่มองหาทางออก บริหารการขายโดยการ Delivery ออกเมนูใหม่ ทำการตลาด คือทำหมด ทั้งมุดใต้ดิน ทั้งปีนกำแพงกันเลยละ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนั้น ทำให้ผมและทีมแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมเยอะ บุคลากรรอบตัวผมมีความเป็นผู้นำมากขึ้น เราต้องหาทางออกไปให้ได้ ทุกคนในทีมต้องช่วยกันทำอะไรเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง             

“ทุกผู้ประกอบการร้านอาหาร ผมว่าเราอยู่ในมหาสมุทรเดียวกัน โดยทุกคนเป็นเหมือนเรือ เรือใครเจ๋งที่สุด วิ่งผ่านคลื่นลมแรงไปได้ ผมว่าปีนี้ (2567) สภาพเศรษฐกิจมีความท้าทาย เราก็แค่ต้องทำเรือของเราให้แข็งแรง ต้องปรับตัวให้ทัน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นผมไม่โทษปัจจัยภายนอก แต่จะโทษปัจจัยภายใน เพราะว่าข้างใน ถ้าเรารอดก็รอด เหมือนตอนวิกฤตโควิดที่ต้องประกอบเรือให้แข็งแรง”

สยายปีก

‘มิน ยูซุ’ ใช้หลักอะไรในการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ และขยายสาขาร้านอาหารที่มีความหลากหลาย แถมยังเปิดแบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ท่ามกลางเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ที่ไม่มีอะไรแน่นอน

“อย่างแรกคือผมชอบหรือเปล่า ทีมเราชอบหรือเปล่า ถ้าชอบ แล้วเรามี Passion หรือเปล่า อยากทำมันทุกวันหรือเปล่า หลักของผมมีอยู่แค่นี้เอง ถ้าไม่อยากทำมันทุกวัน ก็ไม่ทำ ถ้าคิดว่าทำแล้วไม่มีความสุข ไม่สนุก ก็ห้ามทำเด็ดขาด

“YUZU GROUP เรา Stand for อะไร ตอนนี้ YUZU GROUP ของเรา Stand for จุดมุ่งหมายที่ว่า Because Time is Precious, Every Moment is Worth an Extra Effort to Live an Extraordinary Life. ‘เพราะทุกช่วงเวลามีค่าเกินกว่าจะใช้ชีวิตธรรมดาได้’ ตัวผมและทีมยึดคำพูดนี้เป็นคติประจำใจ 

“ล่าสุดถึงเกิดเป็น Duri Buri ขึ้นมา” ปรมินทร์กำลังเล่าถึงแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดของ YUZU GROUP ที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นใหม่หมาด ณ ชั้น 1 สยามสแควร์วัน

“ถ้าหยุดนิ่งก็น่าเบื่อ เหมือนการหาเหตุผลของการเกิดมาใช้ชีวิต ถ้าเกิดมาแล้วไม่ชาเลนจ์ ไม่ทำสิ่งใหม่ ก็ไม่รู้จะเกิดมาทำไม อันนี้คือในมุมของผม เพราะฉะนั้นทุกช่วงเวลาที่ทำ ก็ต้องทำให้มีค่ามากที่สุด จึงสะท้อนกลับมาเป็นวิสัยทัศน์ของ YUZU GROUP ว่า Taste The New Boundary ‘ทุกมื้อของคุณคือโอกาสสร้างสรรค์ของเรา’ ทุกช่วงเวลามีค่าสำหรับเรา เราจึงอยากจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าที่เข้ามาได้รับประสบการณ์และชื่นชอบ”

Duri Buri หรือ ทุเรียนบุรี จึงถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการเชิดหน้าชูตาทุเรียน ผลไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชา หรือ The King of Fruits ของประเทศไทย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทุเรียนที่มีความร่วมสมัย ‘มิน ยูซุ’ เชื่อว่าถ้าไม่ใส่ความร่วมสมัยลงไป ทุเรียนจะไปไม่ได้ไกลกว่าการเป็นผลไม้พื้นถิ่น ทั้งที่มันเป็นผลไม้ที่มีผู้ชื่นชอบ และได้รับความนิยมสูงสุดจากทั้งคนไทยและต่างชาติ

“ผมปรารถนาให้คนต่างชาติเวลาที่เขานึกถึงทุเรียน ต้องนึกถึง Duri Buri เป็นชื่อแรก หรือทุกครั้งเวลาเขาอยากกินทุเรียน อยากลองกินทุเรียน หรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามจากทุเรียน จะต้องเข้ามาลองที่ Duri Buri อยากให้ที่นี่เป็น Durian Scene in Thailand สร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ไม่ใช่รสชาติใหม่ รสชาติยังคงเป็นรสชาติเดิม แต่สร้างภาพ สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับทุเรียนให้กับคนทั้งโลก ได้รู้ว่าความจริงแล้วพอพูดถึงทุเรียน มันไม่ได้มีแค่เนื้อทุเรียน แต่ทุเรียนยังนำไปทำผลิตภัณฑ์อะไรอื่นได้หลากหลาย เช่น เบเกอรี่ ไอศกรีม ทำทุเรียนอบแห้ง หรือเอาไปใส่เป็นส่วนผสมของอะไรก็อร่อยไปเสียทั้งหมด

“อยากให้ทั่วโลกเวลาพูดถึงทุเรียนแล้วเหมือนพูดถึงคาเวียร์ ไม่ว่าคนชอบหรือไม่ชอบคาเวียร์ แต่เมื่อพูดถึงคนจะคิดว่าพรีเมียม เป็นวัตถุดิบของการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษ แล้วทุเรียนล่ะ ทำไมคนคิดแบบนั้นไม่ได้ ในเมื่อผลไม้ชนิดนี้ของไทยเรามีชื่อเสียง มีคุณสมบัติที่ดีและมีประโยชน์มากมาย ผมอยากทำให้ทุเรียนเป็นแบบนั้น อยากทำทุเรียนให้เหมือนกับคาเวียร์บนเวทีโลก”

อะไรทำให้เขาเลือกใช้คำว่า ‘ร่วมสมัย’ กับทุเรียน และอาหารไทยในเครือ YUZU GROUP

“ผมรู้สึกว่า Relevancy นั้นสำคัญ ถ้าร่วมสมัยคือ Relevant การไม่ร่วมสมัยก็คือไม่ได้อยู่ในสมัยนี้ หรือยุคนี้ ผมรู้สึกว่าหากปล่อยไว้ ภาพของทุเรียนในประเทศเรามันไม่วัยรุ่นครับ ไม่เหมือนวัตถุดิบอื่นอย่าง Yuzu ที่พอพูดถึงแล้วรู้สึกว่าสดชื่น เป็นสิ่งใหม่ มาแรง ดูพรีเมียม แต่ทุเรียนไม่ใช่แบบนั้น พอพูดถึงทุเรียน คนจะคิดถึงสวนทุเรียน คิดถึงตอนต่อคิวซื้อทุเรียนมากิน มันไม่มีภาพอื่น ซ้ำร้ายบางคนยังบอกมีกลิ่นแรง จึงมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้ แต่ลองวันนี้ถ้าบอกว่า ไปกินคาเวียร์กัน โอ้โห! คาเวียร์นี่ดูมีค่ามาก”

วันนี้…ชวนไปกินทุเรียนที่ Duri Buri ไปกันไหม?

เจ้าพ่อ VS นักทดลอง

ชื่อที่คนเรียก ‘ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร’ แบบติดปากคือ ‘มิน ยูซุ’ ทุกครั้งที่เอ่ยถึง จะฉายภาพความเป็นเจ้าของร้านอาหารคุณภาพหลากหลายแบรนด์ หลายสาขา ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธไม่อยากให้คนมองว่าตัวเขาเป็น ‘เจ้าพ่อธุรกิจร้านอาหาร’ แต่ปวารณาตัวอยากให้ทุกครั้งที่คิดถึง ‘มิน ยูซุ’ ภาพจำถึงเขาคือ ‘นักวิทยาศาสตร์ที่ชอบการทดลอง’

“ผมไม่อยากเป็นเจ้าพ่อครับ แต่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดลองโน่น ทดลองนี่ มีการตั้งสมมติฐาน และพิสูจน์ อยากให้คนทั่วไปมองผมและทีมงานว่าเป็นคนกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ แน่นอนครับ ความกล้านั้นไม่มีผิดหรือถูก ซึ่งจะยังไงเราก็โตและพัฒนาขึ้นอีกวัน

“อย่างเมื่อวานผมให้น้องที่ร้านทดลองว่า มีรสชาติไอศกรีมทุเรียนอยู่ 8 รส ผมถามเขาว่าปกติคนที่มาชอบรสชาติไหน เขาบอกชอบรสซิกเนเจอร์ครับ ผมถามต่อว่าที่เขาชอบรสซิกเนเจอร์ เป็นเพราะว่าคุณให้เขาชิมรสซิกเนเจอร์หรือเปล่า เขาบอกใช่ อ้าว! อย่างนี้ก็ไม่ใช่แล้วสิ เมื่อวานผมเลยบอกว่าลองตักไอศกรีมรสทุเรียนรสชาไทยให้ลูกค้าลองกินดู แล้วกลับมาบอกผมทีสิว่าใน 20 คน หรือใน 100% มีคนสั่งชาไทยกี่คน

“ผมตั้งใจจะทดลองเปลี่ยนรสชาติไอศกรีมที่ตักให้ชิมไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้การให้ลูกค้าทดลองชิมรสชาติไอศกรีมจึงเป็นโปรเจกต์ทดลองของ Duri Buri ซึ่งผมคิดว่าแบรนด์จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ ต้องทำแบบนี้ครับ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราปล่อยรสซิกเนเจอร์ให้ขายดีไปรสชาติเดียว

“ถ้าไม่ทดลอง แล้วมีคนกินแต่ไอศกรีมรสซิกเนเจอร์ ถามผมว่าผมแฮปปี้ไหม แฮปปี้ แต่เราได้ให้โอกาสรสชาติอื่นได้เฉิดฉายแล้วหรือยัง อย่าลืมสิครับว่า วันนี้เรามีไอศกรีมทุเรียนรสชาไทยนะ ลองให้ลูกค้ากินดู หรือวันนี้ลองให้ชิมไอศกรีมทุเรียนครีมชีส ทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าผมจะแน่ใจว่ารสชาติไหนที่คนชอบ หรือไม่ชอบ

“หรืออย่างร้าน Yuzu Ramen มีเมนู Pork Belly Truffle Ramen ผมรู้สึกว่า Pork Belly นี่ทุกคนชอบกิน คือกินแล้วฟิน ได้กินได้กัดมันหมูกับน้ำซุปรสกลมกล่อม แต่ว่ามีความร่วมสมัยเพิ่มเข้ามาคือเห็ด Truffle ผมรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ ยืนพื้นคือน้ำซุปของเราเป็นทงคตสึ เคี่ยวอยู่นาน 7-9 ชั่วโมง โดยยืนพื้น Authenticity ของวัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ แต่ยังมีเสน่ห์อโรมาของเห็ด Truffle ซึ่งคือความร่วมสมัย เป็น Perfect Blend ของสองอย่าง

“หรือการผสมผสานกันระหว่างความดั้งเดิมกับสมัยใหม่ เป็น Traditions Meet Modernity ผมชอบตรง Root ผมว่าทุกอย่างต้องมี Root พอมีรากเหง้าแล้วมันจึงแข็งแกร่ง มันเลยยั่งยืน

“ผมมองว่าความยั่งยืนของ บริษัท ส้มพาสุข จำกัด ถ้าพูดในวันนี้ คือทุกอย่างครับ ทั้งเรื่องคน เรื่องระบบ เรื่องความเชื่อของทีม เราต้องพาทุกองคาพยพไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือการมอบประสบการณ์

“ที่ผ่านมาผมพยายามจะสื่อสารกับทีมว่า ทุกครั้งที่ลูกค้าเดินเข้ามากินอาหารที่ร้านเรา มันไม่ใช่แค่อาหารนะ แต่เป็นเรื่องอื่นด้วย เป็นความเชื่อบางอย่างว่าเขาจะใช้เวลาของเขาคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด เวลาเดินเข้ามากินอาหารของเรา เขาให้เวลาเรา ซึ่งเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ถ้าเขาเลือกให้เวลาเราแล้ว ประสบการณ์ผ่านการกินอาหารที่เรามอบให้จึงต้องน่าประทับใจ ผมว่าโปรดักต์ที่เราต้องการให้ คือการให้ประสบการณ์ลูกค้า ถ้าทุกคนในทีมคิดอย่างนี้ไปตลอดกาลนาน บริษัทจะยั่งยืน

 “แค่รู้สึกสิ่งเดียวกันว่าเรา Stand for อะไร แล้วทุกคนส่งต่อในสิ่งเดียวกัน ถ้าลูกค้าสัมผัสถึงความตั้งใจของทีมที่จะมอบประสบการณ์ดีๆ ณ ห้วงเวลาที่เข้ามาในร้านเราได้ ผมว่าชีวิตเราโคตรมีความหมาย”

ชายหนุ่มชื่อ ‘มิน ยูซุ’ พูดตบท้าย

Green Festival 2024 ‘No Tree, No Breath, No Life’ เพราะต้นไม้คือชีวิต คือลมหายใจ ในวันศุ...

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง, กลุ่มบิ๊กทรีส์, สมาคมรุ...