Friday 26 April 2024 | 11 : 56 am

ไกร วิมลเฉลา ผู้สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ยุคนี้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และบางครั้งธุรกิจนั้นอาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไปเพราะความไม่รู้หรือไม่ใส่ใจ แต่ถ้าคุณเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และมองหาโอกาสในการสร้างธุรกิจที่คนส่วนใหญ่ลืมนึกถึงได้ละก็ วันหนึ่งคุณจะสามารถอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ไกร วิมลเฉลา

เหมือนอย่าง ไกร วิมลเฉลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่เริ่มบุกเบิกธุรกิจรับจ้างเหมาแบบครบวงจร อย่างจริงจังในปี 2524 กระทั่งต่อยอดในการทำธุรกิจให้บริการอีกหลากหลายรูปแบบ จนธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และขยายงานต่างๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

“บริษัท สยามราชธานี ของเราทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการเหมาจ้าง หรือ Outsource Service มีตั้งแต่การจัดส่งคนขับรถ ให้บริการรถ รวมทั้งการรับดูแลเรื่องจัดสวนหรือจัดภูมิทัศน์ให้กับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ เนื่องจากผมมองเห็นโอกาสที่ว่า ต่อไปแนวโน้มธุรกิจในวันข้างหน้า บริษัทต่างๆ จะเริ่มหันมาใช้บริการ Outsource กันมากขึ้น ดังนั้น ผมจึงพยายามสร้างธุรกิจให้บริการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทอื่นๆ ในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องส่งคนไปให้บริการอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องระบบดิจิทัล และระบบ IT เราก็กำลังพัฒนาสู่การเป็นผู้ให้บริการที่ครบวงจรด้านนี้ด้วยเช่นกัน” ไกร วิมลเฉลา ให้สัมภาษณ์

ก่อนอื่นผมขอเล่าย้อนกลับไปเมื่ออดีต ผมเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมแปลกกว่าเด็กอื่นในตอนนั้น เพราะผมทำงานตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ เริ่มจากการออกร้านในงานเกษตรแฟร์ หรืออีเวนต์ต่างๆ วิธีการของผมก็คือไปติดต่อแบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้าที่ดังๆ ในยุคนั้น ซึ่งแบรนด์เขากำลังจะโละสต๊อกมาออกบูธขาย ซึ่งยุคนั้นพูดได้เลยว่าห้างหลายห้างเขายังไม่ทำกัน แต่ผมเอาสินค้ามาโละสต๊อกขายก่อนใครเลย โดยโทรศัพท์ไปติดต่อเจ้าของแบรนด์สินค้าเป็นร้อยราย กว่าจะได้มา 3-4 รายที่เขายอมให้เรานำสินค้ามาขายได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว

ไกรเล่าว่า แรงบันดาลใจในการขายของในงานเกษตรแฟร์มาจากการที่เขาอยากหาเงินเพื่อไปเที่ยว เขาก็เลยไปจับฉลากเพื่อจองบูธไว้ แต่ปัญหาก็คือได้มา 4 บูธ แต่ดันไม่อยู่ติดกันเลย เขาก็เลยต้องเอาบูธนี้ไปแลกบูธนั้น ในที่สุดก็ได้มา 4 บูธซึ่งอยู่ติดกันจนได้

“ถ้าจะบอกว่าผมมี DNA ของการเป็นพ่อค้าอยู่ในสายเลือดก็อาจจะใช่นะ จำได้ว่าตอนนั้นยืมเงินคุณอามา 40,000 บาทเพื่อมาเช่าบูธ แต่ปรากฏว่าวันแรกขายได้พันกว่าบาทเอง แล้วงานมี 7 วัน นาทีนั้นผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้คงได้เงินไม่พอจ่ายค่าเช่าแน่นอน พอวันที่ 2 ขายได้ 3,000 กว่าบาท ดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังไม่พอ วันที่ 3 ขายได้ 7,000 กว่าบาท เมื่อเห็นท่าไม่ดี ผมก็ปรับกลยุทธ์ทุกอย่างเลย ไล่มาตั้งแต่เปลี่ยนการวางสินค้า รวมทั้งปรับเปลี่ยนหน้าร้านอยู่ตลอดเวลา ขอตี่จูเอียะ ที่บ้านให้ขายของดี จะกินเจ สิบวัน เชื่อมั้ย!! พอวันที่ 4 ขายได้ 2-3 หมื่นบาทเลยละ แต่ทั้งนี้เราก็พยายามปรับผังร้านปรับ Layout แถมไปขอเช่าตู้ไมค์เสียงดีๆ มาประกาศเรียกลูกค้าด้วยนะ คือผมจะทำทุกวิถีทางให้ขายได้ ผลปรากฏว่านอกจากได้ค่าเช่าแล้ว ยังมีเงินเหลือแบ่งให้คนที่มาช่วยงานด้วย แต่ตอนไปจ่ายเงินเจ้าของเสื้อผ้า เขาก็บอกไม่ต้องหักเงินให้เขาเพิ่มแล้ว มีแต่เขาจะให้เงินเรา 20% ตอนนั้นผมก็เพิ่งรู้ว่าตัวเองขายผิดราคา คือไปบวกราคาเพิ่มเข้ามาไง ก็ยิ่งทำให้ได้กำไรเข้าไปอีก” (หัวเราะ)

ไกรเล่าอีกว่า ด้วยความที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ทำให้เรียนจบช้าและใช้เวลาเรียนนานถึง 7 ปีครึ่ง เพราะหลังออกร้านในงานเกษตรแฟร์ พอขึ้นปี 4 นักศึกษาทุกคนสามารถเริ่มสมัครงานได้แล้ว เขาจึงไปสมัครเป็นเซลล์ขายบ้าน แต่ก็ทำได้แค่เดือนสองเดือนก็ไม่เวิร์ค

“ต่อมาผมจึงไปสมัครงานเป็นเซลล์ด้านการแมนเทนแนนต์ตามโรงงาน ซึ่งระบบการเทรนนิ่งของเขาดีมากเลยนะ ผมเทรนอยู่ 2-3 เดือน แต่งานมันหนักมาก วันอาทิตย์ยังต้องทำงาน คือไม่มีวันหยุดเลย ผมก็เลยลาออก ต่อมาผมก็ไปสมัครเป็นเซลล์ขายยางกับล้อแม็กซ์รถยนต์ ทำอยู่ปีกว่า พอได้เงินมาก็เอาไปเที่ยว ส่วนการเรียนก็ดร็อปไว้ก่อน (หัวเราะ) คือผมเสี่ยงโดนรีไทร์ตั้งแต่ปี 1 เพราะได้เกรดเฉลี่ยเทอมแรกต่ำมากๆ (หัวเราะ)

ระหว่างที่ผมเรียนอยู่นั้น ก็เริ่มมีงานประมูลธุรกิจรับเหมาตามองค์กรต่างๆ เข้ามา คือตอนนั้นผมก็ร่วมลงทุนกับเพื่อนเปิดบริษัททัวร์ (นำเที่ยว) ขึ้นด้วย ผมจึงได้เจอกับภรรยา (ยิ้ม) เพราะเธอมาเป็นลูกค้าบริษัททัวร์พอดี แต่ทำบริษัททัวร์ได้ไม่นาน วันหนึ่งคุณพ่อผม (ป๊า) ก็เอ่ยปากว่า ‘เฮ้ย มึงเก็บโต๊ะ และขนข้าวของที่ทำบริษัททัวร์ออกจากออฟฟิศไปเลย’ (ตอนนั้นเช่าตึกป๊า) แล้วกลับไปเรียนให้จบซะ นั่นคือประกาศิตจากป๊า ผมก็เลยต้องกลับไปเรียนจนจบ รวมแล้วจึงใช้เวลาเรียนถึง 7 ปีครึ่งด้วยกัน

เพราะเป็นคนที่ชอบทำงานและไม่เคยอยู่นิ่ง หลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ไกรก็สานต่องานประมูลธุรกิจรับจ้างเหมาเกี่ยวกับการดูแลสวนหรือจัดภูมิทัศน์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ไปด้วย แต่แล้ววันดีคืนดีเมื่อป๊าเปิดโรงงานผลิตวุ้นเส้นยี่ห้อ ‘สายฝน’ ขึ้นที่ จ.นครสวรรค์ ในเวลาต่อมาเขาก็ถูกป๊าเรียกตัวไปช่วยบุกเบิกงานด้านการขายที่โรงงาน

“ตอนนั้นผมไปช่วยงานที่โรงงานวุ้นเส้นของคุณพ่อในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผมจำได้แม่นเลยว่าวันแรกที่ไปขายวุ้นเส้น มีผมคนหนึ่ง เซลล์คนหนึ่ง และคนขับรถคนหนึ่ง วันนั้นขายได้ 100 กว่าบาทเอง ค่าน้ำมันรถยังไม่ได้เลย จึงพูดได้เลยว่าผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเปิดออฟฟิศหรือบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ มาเยอะมาก และล้มเหลวมาก็เยอะ

ระหว่างที่ช่วยคุณพ่อดูแลการขายวุ้นเส้นสายฝน ท่านก็ไม่ได้สอนเคล็ดลับอะไรให้เลยนะ จนปีกว่าๆ ก็ยังขายได้ไม่ดีเท่าไหร่ วันหนึ่งคุณพ่อก็เรียกไปแล้วถามว่า ‘เฮ้ย! เอ็งทำได้รึเปล่า ต้องให้ป๊าลงมือเองรึเปล่า’ แค่นั้นแหละผมยิ่งฮึดใหญ่เลย ค่อยๆ ลุย ค่อยๆ สู้ ค่อยๆ ทำ จนทำมาได้ 5 ปี ซึ่งก่อนจะถึงปีที่ 5 เราก็ได้ขยายกำลังการผลิตถึง 2-3 ครั้งเลยนะ คืออยากให้นึกภาพความใหญ่ของกำลังการผลิตว่า สินค้ายี่ห้ออื่นเขาใช้เวลาผลิต 1 เดือน แต่ของเราใช้เวลาผลิตแค่ครึ่งวันเท่านั้น ต่อมาวุ้นเส้นสายฝนก็เริ่มประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งปีที่ 5 นี้ผมไม่ได้ทำหน้าที่เซลล์แล้ว แต่มาทำหน้าที่จัดโควต้าให้เซลล์แต่ละคน โดยแบ่งตามความต้องการของร้านค้าเป็นหลัก พอผมรู้เรื่องจัดโควต้าก็รู้สึกว่ามันเป็นงานง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ ผมจึงไปขอลาออกกับป๊า เพราะอยากไปทำธุรกิจของตัวเองในตอนนั้น ซึ่งการรับจัดสวนก็ยังทำอยู่ โดยให้ภรรยา (ตอนนั้นเป็นแฟน) แยกออกไปทำธุรกิจจัดสวนก่อน

พอไปขอลาออก ปรากฏว่าโดนด่ายับเลย คือตอนนั้นผมรู้สึกว่าอยากมีอิสระ ก็เลยขอให้แม่ไปคุยกับป๊าให้หน่อย ปรากฏว่าโดนป๊าด่าหนักกว่าเดิม แล้วพูดว่า ‘กูหาอาชีพให้มึงมันไม่ดีตรงไหน แล้วมึงจะทำอะไร มึงจะดูแลสวนทำสวนเหรอ อาชีพพวกนี้นะคนไม่มีปัญญาเขาถึงไปทำกัน’ ตอนนั้นป๊ามีไอเดียอย่างเดียวคือ ต้องทำโรงงาน ​เขาเชื่อมั่นว่าการทำโรงงานสมัยนั้นมั่นคงและยั่งยืน แต่ในที่สุดป๊าก็ยอมให้ผมลาออก”

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ไกรเริ่มหันมาบุกเบิกธุรกิจรับจ้างเหมาอย่างจริงจังภายใต้ชื่อบริษัท ‘สยามราชธานี’ ในปี 2524 โดยเริ่ม​จากธุรกิจให้บริการดูแลภูมิทัศน์หรือจัดสวน ด้วยการจ้างพนักงานเพียง 7-8 คนเท่านั้น แต่ทุกคนล้วนเป็นพนักงานที่ทุ่มเทและมีประสบการณ์ จึงทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี

“ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน เช่น ปตท., บางจาก และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น จึงถือเป็นการสร้างชื่อและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างดี ทำให้สยามราชธานีเป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับ มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น และยังขยายฐานลูกค้าเพิ่มในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย การประปานครหลวง การประปาภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

ต้องบอกว่า ธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงานจัดสวนนี้ทำเงินให้ผมเยอะมาก เชื่อมั้ยว่าในปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผมทำเงินได้ 60 ล้านบาท จากธุรกิจนี้ ในขณะที่ทุกคนแย่กันหมด ผมถึงชอบวิกฤตไง ซึ่งผมก็มาวิเคราะห์ว่าวิกฤตมันมีข้อดีคือ 1.ทำให้ทุกคนเริ่มคิดทบทวนว่าจะ Save Cost ยังไงให้การหมุนเวียนเงินคล่องตัว 2. คู่แข่งขันไม่มี ฉะนั้นเวลาผมบริหารธุรกิจอะไร ผมจะเตรียมพร้อมสำหรับการเกิดวิกฤตเสมอ คือคนอื่นไม่มีตังค์ แต่ผมมีตังค์และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปได้

อีกอย่างผมจะยึดตามหลักพระพุทธเจ้าที่สอนว่า ความสุขของการดำเนินชีวิตคือการไม่เป็นหนี้ (การไม่เป็นหนี้คือลาภอันประเสริฐ) ผมจะโดนป๊าสอนแกมบังคับไม่ให้เป็นหนี้มาตลอด เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างก็คือ ถ้าจะขอวงเงินธนาคาร ก็ต้องขอตอนที่เราไม่ได้อยากจะใช้เงิน เพราะตอนที่ไม่อยากจะใช้เงินนั้น เครดิตของเราจะดี ธนาคารก็อยากจะปล่อยเงินให้กู้ แต่เมื่อไหร่ที่คุณอยากใช้เงิน นั่นแสดงว่าตัวเลขของคุณไม่ดีแล้วละ แถมธนาคารก็ไม่อยากจะปล่อยเงินกู้ด้วย เพราะฉะนั้นผมจะสะสมวงเงินไว้ตลอด ด้วยเหตุผลนี้เหตุผลเดียวเลย

ไกรเสริมอีกว่า ธุรกิจการรับจัดสวนในช่วงแรกๆ นั้น ถ้าคำนวณดูแล้วว่าได้กำไรไม่ถึง 25% เขาก็จะไม่รับงานนั้นเด็ดขาด เหตุผลง่ายๆ เลยก็คือ ถ้าทำแล้วต้องได้กำไรเยอะ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่คุ้มค่าจ้างค่าแรง

“ผมจะกำหนดชัดเจนเลยว่า การรับดูแลสวนในองค์กรนั้นๆ ต้องมีพื้นที่สีเขียวเกิน 30 ไร่ขึ้นไป เพราะถ้ารับงานเล็กๆ เราก็สู้พวกร้านขายต้นไม้เล็กๆ ไม่ได้ เพราะเขาใช้แรงงานแค่ไม่กี่คน แต่ถ้ารับงานขนาดใหญ่มันมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุน ผมจะกำหนดเลยว่าต้องใช้แรงงาน 10 คนขึ้นไป ซึ่งธุรกิจบริการดูแลภูมิทัศน์ของเราจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.บริการดูแลสวนขนาดใหญ่ 2.บริการออกแบบและจัดสวน และ 3.บริการตัดต้นไม้ใหญ่ (Tree Care)

ถ้าถามว่าผมมีเคล็ดลับยังไงที่ทำให้ธุรกิจการจัดสวนเติบโตและยังทำรายได้ดีจนถึงปัจจุบันนี้ ก็พูดได้เลยว่า เมื่อลูกค้าให้งานมา เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ ทำให้เขาสะดวกสบายขึ้น และทำให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่าที่จ้างเรา นอกจากนี้ยังต้องพยายามเพิ่มการบริการให้หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าที่มีมากยิ่งขึ้นด้วย ผมมีความเชื่ออย่างนี้ว่า ‘แม่น้ำสายใหญ่ถ้าอยากมีน้ำเยอะๆ ไม่ต้องไปอะไรมากเลย แค่ขยันขุดลอกคลองสายต่างๆ ทั้งเล็กทั้งใหญ่ เดี๋ยวแม่น้ำสายใหญ่นั้นก็มีน้ำเยอะเอง พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราตอบสนองความต้องการต่างๆ ของลูกค้าได้ ธุรกิจของเราก็จะโตขึ้นเอง ที่บริษัทประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ ก็เพราะเราโชคดีที่มีพนักงานและทีมงานที่เก่ง ผมขอยกเครดิตตรงนี้ให้เลยครับ”

เมื่อเริ่มทำธุรกิจไปนานๆ ไกรก็เริ่มเห็นโอกาสดีๆ อย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นแค่ธุรกิจให้บริการดูแลภูมิทัศน์ ปัจจุบันบริษัทได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจ ‘ให้บริการบริหารจัดการบุคลากร’ โดยเริ่มขึ้นในปี 2530 เมื่อบริษัท ปตท. เปิดประมูลว่าจ้างบริษัทที่ให้บริการเหมาจ้างแรงงานทั่วไปในลักษณะจ้างงานแบบชั่วคราว หรือ Outsource สยามราชธานีจึงมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าไปแข่งขันประมูลงาน กระทั่งได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการรับจ้างเหมาแรงงานเป็นครั้งแรก

“ช่วงนั้นธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงานมีการแข่งขันที่ต่ำ และเป็นช่วงที่มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก การจัดหาแรงงานจึงทำได้ง่าย แค่ปิดประกาศรับสมัครตามเสาไฟฟ้าเพียง 2 วันก็มีคนมาสมัครกว่า 300 คน แต่ความต้องการแรงงานในตอนนั้นมีแค่ 100 กว่าคนเท่านั้น ทำให้เราสามารถคัดเลือกแรงงานได้ตามจำนวนและตรงตามคุณสมบัติที่ลูกค้าต้องการ จึงทำให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานดูแลสวน และการจัดหาบุคลากร และแรงงานทั่วไป”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สยามราชธานีสามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 4 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาทได้ในปี 2538 แล้วบริษัทยังไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้ ยังคงมองหาโอกาสในการขยายและต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2539 บริษัทขยายธุรกิจไปสู่ ‘การบริหารจัดการพนักงานช่างเทคนิค’ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรก และปัจจุบันบริษัทให้บริการบริหารจัดการพนักงานช่างเทคนิคให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4 สัญญา รวมพนักงานช่างเทคนิคกว่า 5,000 คน

“ปัจจุบันสยามราชธานีทำธุรกิจจ้างเหมาบริการครบวงจรมากว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งในแต่ละปีเราได้กำไรมาตลอด หลักในการบริหารงานสำหรับผมก็คือ นอกจากทำสิ่งที่รักที่ชอบ และลูกค้าประทับใจแล้ว มีคนเคยบอกผมว่า การทำธุรกิจนั้นเราต้องเป็นได้ 2 อย่างคือ เป็นทั้งพญาอินทรีย์ และเป็นพญาหนอน ซึ่งการเป็นพญาอินทรีย์นั้นจะบินขึ้นไปได้สูงๆ บินได้ไกลๆ สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่เฉียบคม ส่วนการเป็นพญาหนอนนั้นจะต้องชอนไชไปทุกจุด ต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วผมมักจะเป็นพญาหนอนได้ดีกว่า ผมจึงขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเป็นพญาหนอนเป็นหลัก เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าสิ่งเล็กๆ เราทำดีแล้ว พอมารวมๆ กันมันก็ใหญ่ขึ้นได้”

แม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ ส่วนบริษัทที่เหลือรอดก็ปรับตัวลดต้นทุน ลดการจ้างพนักงานประจํา หันมาใช้ ‘Outsource’ เพิ่มขึ้น แต่ท่ามกลางวิกฤตกลับกลายเป็นโอกาสของสยามราชธานี ทำให้เราสามารถขยายธุรกิจจ้างเหมาบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น ด้วยการให้ ‘บริการบริหารจัดการพนักงานงานขับรถยนต์’ โดยให้บริการคนขับรถยนต์สำหรับผู้บริหารของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทชั้นนำของประเทศ”

กระทั่งปี 2542 สยามราชธานี ก็ขยายบริการจ้างเหมาแรงงานครอบคลุมไปถึง ‘บริการบริหารจัดการพนักงานสำนักงาน’ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ธุรกิจการให้ ‘บริการรถยนต์ให้เช่า’ โดยให้บริการทั้ง รถยนต์ส่วนบุคคล รถกระบะ และรถตู้  

จากกลยุทธ์ในการบริหารงานที่มองเห็นโอกาสทางด้านธุรกิจนี้เอง ทำให้ปัจจุบันสยามราชธานีกลายเป็นบริษัทที่ให้บริการจัดหาบุคลากร (Outsourcing Services) ชั้นนำของประเทศไทย โดยธุรกิจบริหารจัดการพนักงานขับรถยนต์และพนักงานสำนักงาน ถือเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยในช่วงปี 2559-2561 บริษัทได้รับการไว้วางใจจากลูกค้ากว่า 300 ราย คิดเป็นมูลค่าบริการตามสัญญารวมกว่า 1,900 ล้านบาท

นอกจากธุรกิจของบริษัทสยามราชธานีแล้ว ไกรยังมีธุรกิจโรงแรมที่ จ.ระยอง มีโรงงานกำจัดขยะ และมีโรงงานพลาสติกซึ่งทำพวกแพ็กเกจจิ้งอีกด้วย ประธานกรรมการบริหาร แห่งสยามราชธานีย้ำว่า เขาจะไม่หยุดยั้งในการทำธุรกิจต่างๆ ให้เติบโต และมีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนมาขยายกิจการสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคต

“ทุกวันนี้ผมยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ผมตั้งเป้าไว้ว่าผมจะต้องเข้าอบรมทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็น การอบรมเรื่องกฎหมาย หรือเรื่องการบริหาร ผมจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมจะดู YouTube เป็นหลัก นอกจากนี้ยังชอบดูรายการ Perspective หรือดูรายการสัมภาษณ์อื่นๆ เพราะมันจะช่วยให้ผมเรียนรู้และจดจำประสบการณ์ที่ดีๆ จากคนอื่นๆ และนำมาปรับใช้กับตัวเองได้

ทุกวันนี้ผมจะทำงานหรือคิดเรื่องงานอยู่ตลอด เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้โฟกัสกับเรื่องเวลาส่วนตัวมากนัก ผมจะดูแค่ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันมีประโยชน์กับตัวเองมั้ย มีประโยชน์ต่อบริษัทมั้ย มีประโยชน์ต่อครอบครัวมั้ย มีประโยชน์ต่อสังคมมั้ย ซึ่งประโยชน์สำหรับตัวผมตอนนี้ก็คือ ได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อนแบบง่ายๆ ได้ทำหน้าที่ต่อคนในครอบครัวให้ดี และดูแลบริษัทให้ดีแค่นั้นแหละ เมื่อรู้ตัวเองว่าเรามีประโยชน์ มันก็มีความสุขแล้วล่ะครับ”

สำนักงานสลากฯ เปิดตัว โครงการ SEED PROJECT ปี 4 ‘สร้างผู้นำเยาวชน พาท้องถิ่นสู่สากล’

พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ จีแอลโอ เดิน...