หากยังจำกันได้ เมื่อประมาณปลายปี 2561 ครูรัก-ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ ผู้กำกับอารมณ์ดีแห่งวงการบันเทิง เคยมีข่าวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากพบกับปัญหาหลายสิ่งเข้ามาในชีวิตพร้อมๆ กัน

ครั้งนั้นทำให้ ครูรัก ของเราจากคนที่เคยสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนรอบข้าง กลับกลายเป็นคนที่ไม่มีรอยยิ้มและมองตัวเองไม่มีค่า จนถึงขนาดเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่แน่นอนว่าด้วยจิตใจที่ยังเข้มแข็ง บวกกับเป็นคนที่มองโลกว้าง และรู้จักคำว่าให้มาตลอด ทำให้ครูรักรู้จักกับเด็กไร้โอกาส มูลนิธิบ้านพระพร -คริสเตียน เรือนจำพันธกิจ และเด็กไร้โอกาสกลุ่มนี้คือ คนที่คืนชีวิตปกติให้ครูรักของเรากลับมาสร้างความสุขและเห็นคุณค่าในตนเองอีกครั้ง จนเกิดคณะละครจิตอาสาในชื่อ ‘คณะละครนกกระจิบของพ่อ’

จุดเริ่มต้นของการทำคณะละครจิตอาสาคืออะไร ?
เปิดคำถามแรกแบบตรงไปตรงมากับ ครูรัก–ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ จนได้คำตอบว่า จุดเริ่มต้นของการทำคณะละครจิตอาสา คือครูรักได้นำเงินไปบริจาคที่มูลนิธิบ้านพระพร ซึ่งเป็นมูลนิธิเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากแม่ซึ่งถูกจำขังในเรือนจำ โดยมูลนิธิแห่งนี้ได้ดูแลเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างดี ทั้งการศึกษา ความเป็นอยู่ และจากที่ตนเองไปสัมผัส พบว่า เด็กกลุ่มนี้ยังขาดความรัก ความผูกพัน และพวกเขาจะรอคอยให้ทุกคนกลับมาหา
“เด็กบ้านพระพรฯ แม้จะได้รับการดูแลอย่างดี แต่ลึกๆ เราสัมผัสได้ว่าพวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่เคยได้รับความรักเต็มที่ เพราะเวลาเราไปหาเด็กเหล่านี้มักจะถามว่า เมื่อไหร่จะมาอีก และคำว่าเมื่อไหร่จะมาอีก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราคิดว่า ถ้ามาที่นี่ จะมาทำอะไรทุกอาทิตย์ เพราะถ้าให้นำเงินหรือซื้อขนม ซื้อของมาแจก เราก็คงไม่มีกำลังทรัพย์พอขนาดนั้น จึงเกิดไอเดียในการนำความสามารถและสิ่งที่เรามีอยู่ในตัวเอง คือ การแสดง มาตั้งคณะละครจิตอาสา โดยประกาศหาคนร่วมคณะละครผ่านทางโซเชียลมีเดีย”
หลังจากประกาศหาทีมทำคณะละครอาสา ก็มีคนสมัครเข้ามาจำนวนมากทั้งคนในวงการบันเทิง, ลูกศิษย์บ้าน AF, ผู้ปกครอง และเพื่อนๆ ในโซเชียลฯ ครูรักเองบอกต่อว่า เมื่อทุกคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองทำ มันทำให้เรามีกำลังใจดี โดยละครเรื่องแรกที่เราไปแสดงให้เด็กในบ้านพระพรฯ รับชมคือเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ โดยทุกคนในคณะละครตั้งใจซ้อมกันมาก ส่วนตนเอง เขียนบท แต่งเพลง เพื่อให้เด็กๆ บ้านพระพรฯ มีความสุข และได้ข้อคิดดีๆ แฝงไปด้วยเมื่อชมละครเวทีจบ

ทำไมต้องชื่อว่า ‘คณะละครนกกระจิบของพ่อ’
ครูรักบอกว่าคำว่า ‘นกกระจิบ’ คือนกตัวเล็กๆ ที่สร้างรังแต่พอตัว แต่ถ้านกมันมาอยู่รวมกันหลายตัวก็กลายเป็นรังที่ใหญ่ขึ้นมาได้ ซึ่งก็เหมือนกับคณะละครตนเอง ที่ ตนเองและทุกคนเป็นกลุ่มเล็กๆ ในสังคม ที่เมื่อมารวมตัวกันเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ที่เชื่อว่าจะต่อยอดให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ได้ ส่วนคำว่า ‘ของพ่อ’ มาจากที่ตนเองต้อง การระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยให้แนวทางของการทำความดี จิตอาสา และความพอเพียง ดังนั้น คำว่านกกระจิบของพ่อ คือการรวมตัวพลังเล็กๆ เพื่อสร้างสิ่ง
ดีๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมตามความถนัดของตนเองโดยไม่ต้องสิ้นเปลื้องนั่นเอง

คิดว่าคณะละครนกกระจิบของพ่อ ให้อะไรกับ ผู้ให้ และผู้รับ บ้าง ?
คำถามนี้ ครูรัก ตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า การทำคณะละครอาสานี้ แน่นอนว่าผู้ให้ จะได้รับความสุขของการเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มาร่วมแสดงละคร พวกเขาจะรู้จักการมีน้ำใจ ที่สำคัญมองเห็นค่าของคนที่ขาดโอกาสกว่าตนเอง และยังได้พัฒนาศักยภาพความสามารถด้านการแสดงควบคู่ไปด้วย ในขณะเดียวกันด้านเด็กในบ้านพระพรฯ หรือเด็กในมูลนิธิที่ตนเองไปแสดง ในฐานะผู้รับ พวกเขาได้รับความสุข ความรัก และทำให้เกิดรอยยิ้ม ที่สำคัญพวกเขามีความหวังในการเริ่มต้นสิ่งดีๆ ในสังคม”

หากพูดว่า เด็กไร้โอกาส เป็นวัคซีนให้ครูรักหายจากโรคซึมเศร้า จะพูดได้หรือไม่?
“หากจะพูดแบบนั้นก็ได้ เพราะเมื่อผมได้มาทำคณะละครนกกระจิบของพ่อ ที่แม้ใน 1 เดือนจะแสดงเพียงแค่ 2 ครั้ง คือที่บ้านพระพรฯ และบ้านทานตะวัน แต่ทำให้ตนเองได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการเห็นรอยยิ้ม และความหวังของเด็ก ที่รอคอยตนเองและกลุ่มคณะละคร ที่สำคัญตนเองเชื่อว่า เด็กในมูลนิธิมองว่า พวกเราคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นไอดอลและแรงบันดาลใจให้พวกเขา ดังนั้น การใช้ศิลปะจึงถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการกล่อมเกลาจิตใจเด็กไร้โอกาส ที่จะเติบโตไปสู่สังคมในวันข้างหน้า
ครูรักทิ้งท้ายว่า ตอนนี้แม้ตนเองจะหายหน้าหายตาไปจากหน้าจอบ้าง แต่ยังมีผลงานกำกับการแสดงละครเวที ‘สูตรเสน่หา เดอะมิวสิคัล’ นำแสดงโดย เชียร์-ฑิฆัมพร และ เก้ง-เขมวัฒน์ พร้อมเปิดม่านการแสดงในวันที่ 27 กันยายน 2562 และเร็วๆ นี้จะมีผลงานละครมาให้แฟนๆ ได้ชม แต่สุดท้ายสำหรับคณะละครนกกระจิบของพ่อ ครูรักได้บอกว่า “ต่อให้ผมตายไป แต่อย่าให้คณะละครนี้ตายไปนะครับ”