Tuesday 23 April 2024 | 6 : 27 pm

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รู้ก่อน ป้องกันได้

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งอันดับ 4 ที่ตรวจพบในชายไทย มักพบบ่อยในชายสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีอายุสูงขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าอัตราการเกิดใหม่ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อยู่ที่ 7.5% ต่อประชากร 1 แสนคน อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถรักษาให้หายได้หากพบในระยะเริ่มต้น

ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนลึกบริเวณโคนอวัยวะเพศที่อุ้งเชิงกราน มีหน้าที่สร้างน้ำเมือก โดยเมือกนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงและป้องกันสารพันธุกรรมของอสุจิให้สามารถปฏิสนธิได้ในการมีเพศสัมพันธ์

มะเร็งต่อมลูกหมาก มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อโรคเริ่มเข้าสู่ระยะลุกลามอาจมีอาการผิดปกติได้ เช่น มีอาการลำบากขณะเริ่มปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะผิดปกติ อาจมีอาการปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน หากมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจายและลุกลามเข้ากระดูกอาจมีอาการปวดกระดูกที่รุนแรงโดยไม่มีสาเหตุ และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด อาทิ การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (PSA) ตรวจคลำทางทวารหนัก การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ และการตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากคือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะบิดาหรือพี่น้องที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เชื้อชาติโดยพบมากในชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย และผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ หรืออาหารไขมันสูงเป็นประจำ

มะเร็งต่อมลูกหมากมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันมีการตรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความรู้เรื่องโรค จึงมีการตรวจเช็คสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในระยะแรกเริ่ม ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ขณะที่ผู้ป่วยในต่างจังหวัดยังขาดความรู้ มาพบแพทย์ช้า และไม่ได้รับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ จึงทำให้เข้ารับการวินิจฉัยช้าและโรคได้พัฒนาความรุนแรงเกินกว่าจะสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษาในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ

การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก Co-creation workshop : Prostate cancer จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในการสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการให้ความรู้และเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสาขาวิชาชีพต่างๆ อาทิ แพทย์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ป่วย สื่อมวลชน นักวิชาการ และอีกมากมาย

ผศ.นพ.ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์

ผศ.นพ.ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า… “โรคมะเร็งต่างๆ มักเริ่มต้นที่โรงพยาบาลชุมชนซึ่งอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรค จึงอาจรักษาตามอาการ กว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ต้องมีการเปลี่ยนย้ายโรงพยาบาลหลายครั้งและใช้เวลายาวนาน ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การส่งตัว จนไปถึงสิทธิการรักษา ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะช่วยลดขั้นตอนเพื่อลดความเครียดของคนไข้”

นพ.ดนัย มโนรมณ์

นพ.ดนัย มโนรมณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า…“ข้อจำกัดทางการตรวจวินิจฉัยค่า PSA คือสถานพยาบาลบางแห่งโดยเฉพาะขนาดเล็ก ห้องปฏิบัติการไม่สามารถตรวจได้ จึงต้องส่งไปห้องปฏิบัติการส่วนกลางหรือภายนอก ซึ่งใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควรจะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่มีการตรวจเช็คค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ด้วย เนื่องจากผู้สูงอายุชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการรักษาแบบทางเลือก นอกเหนือจากการรักษาแบบแผนปัจจุบันมากมาย เช่น การรักษาด้วยสมุนไพรต่างๆ ซึ่งผลที่ตามมาคือ หากประชาชนเลือกการรักษาทางเลือกอื่น กว่าจะกลับเข้าสู่การรักษาในแผนปัจจุบันอาจจะช้าเกินไป ทำให้คนไข้สูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาได้”

ร.ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย

ร.ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คณะ แพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า…“เราทุกคนสามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ แพทย์ที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง ควรหาความรู้ ป้องกัน และดูแลตัวเอง ในส่วนของแพทย์ควรพยายามติดตามวิทยาการ ความก้าวหน้าในการรักษา การวินิจฉัย ประเทศไทยมีมาตรฐานในการรักษาใกล้เคียงกับตะวันตก  เรามียาที่ดี มีแพทย์ที่ใช้ยาได้ คนไข้พร้อมจะรับยา แต่ค่าใช้จ่ายถือเป็นอีกอุปสรรค ในส่วนของศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะมีแนวคิดที่จะรวมตัวกันในการช่วยแก้ปัญหาเพื่อส่งต่อข้อมูลเบื้องลึกที่มีความสำคัญให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาคนไข้ โดยทั่วไปส่วนใหญ่จะมีการจัดให้ความรู้เรื่องต่อมลูกหมากให้แก่ประชาชน แต่หากรวมตัวกันและกำหนดประเด็นที่มีความชัดเจน อย่างโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น” 

ผศ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า… “ในต่างประเทศจะมีกลุ่ม Patience Advocacy กลุ่มพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเบิกจ่ายทั้งภาครัฐและภาคประกันชีวิต เป็นการให้ข้อมูลทางภาครัฐโดยตรงถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับการพิจารณาการเข้าถึงทางเลือกใหม่ในการรักษา ไม่ใช่แพทย์อย่างเดียว ประเทศไทยมีกลุ่มผุ้ป่วยเฉพาะบางโรค แต่กลุ่มคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่มี”

สำนักงานสลากฯ เปิดตัว โครงการ SEED PROJECT ปี 4 ‘สร้างผู้นำเยาวชน พาท้องถิ่นสู่สากล’

พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ จีแอลโอ เดิน...