Wednesday 17 April 2024 | 3 : 39 am

เพราะไมเกรนไม่ใช่แค่อาการปวดหัว มาทำความเข้าใจโรคไมเกรนให้มากขึ้น รวมถึงการรักษาใหม่สำหรับผู้ป่วยไมเกรน

ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความกังวลและความเครียดต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ อาชีพการงาน โรคติดเชื้อโควิด-19 และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ และโรคที่พบบ่อยมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ โรคปวดศีรษะเรื้อรัง หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า โรคไมเกรน ที่มักจะพบในกลุ่มวัยทำงานเป็นส่วนมาก มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ประสบภาวะอาการปวดหัวไมเกรน นอกจากจะรบกวนและลดประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย หากคำนวณเป็นตัวเลขจะพบว่าโรคไมเกรนนี้สามารถคิดเป็นหนึ่งในสามของภาวะการเจ็บป่วยยอดฮิตที่พบมากที่สุดในโลก หรือพูดง่ายๆ คือในคนเจ็ดคนจะพบว่ามีผู้ป่วยโรคไมเกรนอย่างน้อยหนึ่งคนเลยทีเดียว

ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคไมเกรนที่สาเหตุของการเกิดโรค

ไมเกรน เป็นอาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่สามารถเกิดและพบบ่อยสุดในช่วงอายุระหว่าง 15-30 ปี หรือบางรายสามารถตรวจพบได้เมื่ออายุเพียง 7-8 ปีเท่านั้น แต่อายุโดยเฉลี่ยที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงานในช่วงต้น ๆ และพบน้อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอีกด้วย

นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านโรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “ไมเกรน เป็นโรคที่พบมานานเป็นร้อยปีแล้ว จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคไมเกรนได้อย่างชัดเจนนัก แต่โดยการตรวจวินิจฉัยส่วนมากจะพบว่าผู้ที่มาหาหมอจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่อง หรือมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจมารับการวินิจฉัยโรค ซึ่งปกติตามขั้นตอนจะมีการตรวจซักประวัติถามถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว รูปแบบการใช้ชีวิต เป็นต้น ซึ่งหากทำการวินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยเป็นไมเกรน ทางการแพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยยาตามอาการนั้นๆ ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดอาการได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ อาการปวดไมเกรนแบบนาน ๆ ครั้ง (Episodic Migraine) และการปวดไมเกรนแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine)

การรักษาเมื่อรู้ว่าเป็น “ไมเกรน”

ตั้งแต่โลกรู้จักกับ “โรคไมเกรน” วงการแพทย์เองก็ได้ทำการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าไม่มียาใดที่รักษาไมเกรนให้หายขาดได้ ซึ่งยาที่ใช้รักษาไมเกรนโดยทั่วไปจะใช้เพื่อการควบคุมอาการเมื่ออาการกำเริบเท่านั้น โดยแบ่งยารักษาออกเป็นสองประเภท คือ

  1. ยารักษาแบบเฉียบพลัน (Acute Treatment) สำหรับรับประทานทันทีที่มีอาการปวด ซึ่งยาจะได้ผลดีเมื่อรับประทานได้เร็วทันท่วงที เพราะหลังจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนซึ่งจะมีผลให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง
  2. ยารักษาแบบป้องกัน (Preventive or Prophylactic Treatment) ซึ่งเป็นยารับประทานแบบป้องกันที่ต้องได้รับอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อลดความรุนแรงหรือความถี่ของการเกิดอาการไมเกรน ซึ่งยาประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการขึ้นก่อน ยาในกลุ่มป้องกันนี้แพทย์มักจะแนะนำสำหรับกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการค่อนข้างบ่อย หรือกรณีที่ปวดนานๆ ครั้งแต่เมื่ออาการกำเริบแล้วรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม “ยาป้องกันไมเกรน” ที่เป็นยากลุ่มชีวโมเลกุลแบบฉีด โดยจะฉีดให้ผู้ป่วยเดือนละครั้ง ทั้งยังสามารถฉีดได้ทั้งกับผู้ป่วยที่มีอาการแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine) และแบบนานๆ ครั้ง (Episodic Migraine) ทั้งนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาการใช้ยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย

“การรักษาโดยส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาและให้ยาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยไมเกรนนี้จะใช้เวลารักษาต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป แล้วแต่การวินิจฉัยในแต่ละราย” นพ.เขษม์ชัย กล่าวเสริม

ในรายที่ได้รับยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ พบว่าอาการปวดศีรษะดีขึ้นและความถี่ในการเกิดอาการน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายให้ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม การยอมรับการรักษาจึงอยู่ที่การตัดสินใจของผู้ป่วย แพทย์จะแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษา พร้อมวิธีการดูแลตัวเองและให้กำลังใจผู้ป่วย รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ได้แก่ สภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด ฯลฯ

นายแพทย์เขษม์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “แนะนำให้ผู้ป่วยไมเกรนดูแลตัวเอง และปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม คือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือเลือกทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายสมองบ่อยๆ อย่าให้เครียดมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงแดดจัด หรืออาหารที่ไปกระตุ้นอาการ รวมทั้งดื่มน้ำมากๆ เพราะภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydrate) ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทุกอย่างที่อาจเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ไมเกรนกำเริบบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้น”

โรคไมเกรน แม้จะยังเป็นกลุ่มภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายที่ติดอันดับต้นๆ และในปัจจุบันมีการค้นพบสารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้แล้ว และด้วยวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในแง่ของประสิทธิภาพ พร้อมกับลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ป่วยไมเกรนสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมได้ที่โรงพยาบาลและศูนย์บริการทางการแพทย์