Sunday 19 May 2024 | 9 : 27 am

สร้างอัตราเสนองาน ให้มากกว่าเสนอหน้า 3 เทคนิคสร้างคนแบบ NETFLIX

อยากพัฒนาองค์กรให้เก่งแบบNETFLIXทำอย่างไร?อ้างอิงบทความจาก ซีแอค (SEAC) ผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตการสร้างคน หมายถึง การส่งเสริมให้พนักงาน หรือ Talent (คนเก่ง) ของเราได้โชว์ศัพยภาพที่มี เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อตัวพนักงานเอง และองค์กรของคุณ

เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงยอดฮิต ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านบัญชีทั่วโลก รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังความสำเร็จของเน็ตฟลิกซ์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานวัฒนธรรมองค์กรที่มีชื่อเรียกว่า ‘Freedom and Responsibility’ มาตั้งแต่ปี 2009

รีด ฮาสติงส์ (Reed Hastings) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของเน็ตฟลิกซ์มองว่า ‘ทรัพยากรบุคคล’ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ต่างจากทรัพย์สินมีมูลค่าอื่นๆ ของบริษัท และยิ่งถ้าองค์กรต้องการ ‘คนเก่ง’ เข้ามาทำงานด้วยแล้ว ความชัดเจนของวัฒนธรรมองค์กร จะช่วยให้พนักงานเข้าใจองค์กร และก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ และนี่คือ 3 ตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่จะช่วยให้องค์กรคราฟต์คนเก่งแบบเน็ตฟลิกซ์

1.พนักงานต้องเข้าใจธุรกิจ ไม่ต่างไปจาก CEO

เน็ตฟลิกซ์เชื่อว่า ความสำเร็จของธุรกิจจะคงอยู่อย่างยั่งยืนได้ ต้องมาจากแรงขับเคลื่อนองค์กร ที่เกิดมาจากทุกคนในองค์กรนั้นเข้าใจธุรกิจที่ทำอยู่อย่างแท้จริง

พนักงานของเน็ตฟลิกซ์จึงต้องมีความกระหายรู้ หรือที่เรียกว่า ‘Curiosity’ อยู่ตลอดเวลา และคนที่จะมาเป็นพนักงานเน็ตฟลิกซ์จะต้องรู้ทุกซอกทุกมุมของแพลตฟอร์ม ที่เป็นเสมือนสินค้าและบริหารของบริษัท

เพราะเมื่อพนักงานเกิดความเข้าใจในธุรกิจอย่างถ่องแท้แล้ว การคิดค้นพัฒนาต่อยอดความสำเร็จธุรกิจ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นตามไปด้วย

2.เรียนรู้การให้ฟีแบ็ก อย่างตรงไปตรงมาภายในทีม

ฟังดูเหมือนง่าย แต่หลายองค์กรก็มักจะทำไม่ได้ เพราะด้วยความที่ไม่ใส่ใจกับมันมากพอ

เน็ตฟลิกซ์สร้างบรรยากาศในการฟีดแบ็ก (Feedback) สนับสนุนให้พนักงานพูดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความซื่อสัตย์ ภายใต้ความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ ต้องไม่มีเรื่องการเมืองในที่ทำงาน หรือความเกรงใจด้านตำแหน่งงาน

ผู้นำทีมฟีดแบ็กลูกทีมก็ได้

หรือคนในทีมฟีดแบ็กกันเองก็ยังได้

การฟีดแบ็กในองค์กรเน็ตฟลิกซ์ จึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเคารพและยอมรับในความคิดเห็นต่าง โดยฝั่งผู้พูดจะใช้ทักษะการสื่อสารที่กระชับและชัดเจน และผู้ฟัง ก็จะใช้ทักษะการฟังเพื่อทำความเข้าใจ มากกว่าที่จะพูดตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว

วิธีการนี้เน็ตฟลิกซ์เชื่อว่า จะช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในทีมได้อย่างรวดเร็ว

3.ให้อิสระในการทำงาน และไม่เน้นชั่วโมงการทำงาน แต่เน้นความสำเร็จของงาน

รู้หรือไม่ว่า พนักงานเน็ตฟลิกซ์สามารถลาพักร้อนได้อย่างไม่มีจำกัด  ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเน็ตฟลิกซ์มองว่าระยะเวลาการทำงานไม่ใช่ตัวกำหนดความสำเร็จของธุรกิจ และความสำเร็จใหม่ๆ ของธุรกิจ อาจจะมาจากไอเดียที่เกิดขึ้นตอนพักผ่อนก็เป็นได้ แต่ก็หมายความว่า พนักงานก็ต้องรักษาประสิทธิภาพการทำงานที่ดีด้วย

ความเป็นอิสระในการทำงานของเน็ตฟลิกซ์ ไม่เพียงสร้างความแปลกใหม่ในวงการธุรกิจ แต่ยังช่วยคัดกรองพนักงานตัวจริงให้กับเน็ตฟลิกซ์ได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย การสร้างอัตราเสนองาน ให้มากกว่าเสนอหน้า คือจุดแข็งมากๆ ของเน็ตฟลิกซ์ เพราะทุกคนมีจุดหมายเดียวกัน และไม่มีใครเอาเปรียบใครทั้งสิ้น

มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า เน็ตฟลิกซ์กำลังสร้างคนเก่ง ที่ไม่ได้เก่งงานเพียงแค่คนเดียว แต่ยังปรับเลนส์การมองโลกการทำงานให้พนักงานทั้งองค์กร ช่วยกันพัฒนาความเก่งไปพร้อมกัน

และเมื่อพนักงานมองเห็นความสำเร็จขององค์กรไม่ต่างไปจากความสำเร็จของตนเอง นั่นก็สะท้อนได้ถึง ‘Outward Mindset’ ขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โดย Outward Mindset ที่ว่านี้ ก็คือแนวคิดการทำงานเป็นทีมที่จะช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถซึ่งกันและกันได้ และพร้อมจะเติบโตไปด้วยกันทั้งองค์กร

เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อพนักงานเข้าใจเป้าหมายขององค์กร ไปพร้อมกับการมุ่งสู่เป้าหมายของแต่ละคนแล้วนั้น องค์กรก็จะสามารถทยานสู่ความยิ่งใหญ่ ได้เหมือนกับ Netflix นั่นเอง