Friday 29 March 2024 | 3 : 34 am

สร้างบรรยากาศทางเดินเท้าตามแนวทางของ TOD

การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ไม่ได้มีเพียงแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีพร้อม แต่ยังรวมถึงการสร้างบรรยากาศโดยรวมของเมืองให้มีความน่าอยู่ ด้วยการทำให้โครงสร้างพื้นฐาน มีความสวยงามผ่านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ และสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งหนึ่งในวิธีการสร้างบรรยากาศที่ง่ายและได้ผลมากที่สุด คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างโครงข่ายทางเดินเท้า โดยใช้แนวทางการพัฒนาของ TOD (Transit Oriented Development) สร้างสภาพแวดล้อมริมทางเดินเท้าให้เอื้ออำนวยแก่การใช้ชีวิตในเมือง ทำให้โครงข่ายทางเดินเท้าปลอดภัย  สวยงาม และน่าเดิน ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

1.ทุกช่วง 100 เมตรต้องมีร้านค้า

การมีต้นไม้และสวนสาธารณะขนาดเล็กระหว่างเส้นทาง เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างทัศนียภาพของเมืองให้มีความน่าอยู่มากที่สุด แต่ความมีชีวิตชีวาของเมืองกลับไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ แต่อยู่ที่ผู้คนออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเดินไปยังจุดต่างๆ ของเมืองต่างหาก การเดินเท้าของผู้คนช่วยให้เมืองนั้นๆ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา ไม่ดูเหมือนเมืองร้าง เวลาขับรถผ่านแล้วเห็นเพียงอาคารสวยงามแต่กลับไร้ผู้คน และสิ่งที่จะดึงดูดผู้คนให้ออกมาเดินเท้า ใช้ชีวิตนอกบ้านได้ก็คือร้านค้านั่นเอง

ตามแนวทางการพัฒนาแบบ TOD นั้นมีการกำหนดให้ทุกระยะ 100 เมตร บนโครงข่ายทางเดินเท้าจะต้องมีร้านค้าอย่างน้อย 1 ร้านตั้งอยู่ เป็นร้านอะไรก็ได้ แต่ขอให้มีร้านที่ดึงดูดให้ประชาชนเดินทางเข้ามาใช้บริการ เพราะร้านค้าที่เต็มไปด้วยผู้คนเดินเข้าออก จะช่วยสร้างบรรยากาศของเมืองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการมีร้านค้าในทุกๆ ระยะ 100 เมตร ยังมีข้อดีอีกอย่าง คือ ช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยเวลาเดินเท้ายามค่ำคืนอีกด้วย

2.สร้างเส้นทางที่ร่มรื่น

ในประเทศเขตร้อนชื้นผู้คนมักพูดคุยกันถึงเรื่องสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินเท้าไปยังร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ใกล้สำนักงาน หรือพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ ดังนั้น TOD จึงมีการกำหนดแนวทางให้ระหว่างทางเดินมีต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงาเป็นระยะๆ เท่าที่พื้นที่จะอำนวย

รวมทั้งการสร้างสิ่งที่ให้ร่มเงา เช่นกันสาดจากร้านค้าที่อนุโลมให้ยื่นออกมาสร้างร่มเงาในพื้นที่ทางเดินเท้า หรือสิ่งที่สามารถทำให้เกิดร่มเงาได้ เช่น ตัวอาคารสูงที่สามารถให้ร่มเงาได้ในช่วงเวลาก่อนเที่ยง หรือหลังเที่ยง ซึ่งร่มเงาเหล่านี้จะช่วยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาสามารถเดินเท้าไปยังจุดหมายปลายทางในช่วงเวลากลางวันได้ โดยไม่รู้สึกร้อนหรือเหนื่อยมากเกินไป

3.ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดินเท้า

ทางเดินเท้าควรมีความกว้างอย่างน้อย 2.5 เมตรขึ้นไป โดยไม่รวมพื้นที่ทางเดินเข้าอาคาร และพื้นที่สีเขียวริมทาง สิ่งสำคัญที่สุดบนทางเดิน คือ ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน และบดบังทัศนียภาพของเมือง เช่น ไม่มีรถเข็นขายอาหารอยู่บนทางเท้า ไม่มีป้ายโฆษณาตั้งอยู่ในตำแหน่งบังสายตาในจุดรอรถโดยสาร และบริเวณทางม้าลาย ที่อาจบังสายตาทั้งคนเดินถนนและผู้ขับขี่

ทางเดินที่ดูโปร่ง โล่ง ไม่มีสิ่งบดบังสายตา ช่วยทำให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก เพิ่มความปลอดภัย และทางเดินที่กว้างขวาง สบายตา ไม่แออัด ยังมีส่วนจูงใจให้ประชาชนเลือกใช้เป็นเส้นทางออกกำลังกาย ชมเมืองในยามเช้าหรือเย็นได้อีกด้วย 

4.จุดข้ามถนนที่ปลอดภัย

ช่วงเวลาที่คนเดินถนนกลัวมากที่สุดในการเดินเท้า คือ ช่วงเวลาเดิมข้ามทางม้าลาย โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีรถจอดให้ข้ามเมื่อไหร่ หรือเดินข้ามไปแล้วจะมีรถวิ่งมาเฉี่ยวชนหรือไม่ ดังนั้นการออกแบบตามแนวทาง TOD กำหนดให้ทางม้าลายควรมีสัญญาณไฟจราจร เพิ่มความปลอดภัยให้คนข้ามถนน แต่หากเป็นเมืองที่มีกฎหมายจราจรเข้มงวด สัญญาณไฟข้ามถนนอาจไม่มีความจำเป็น ถ้ากฎหมายของเมืองระบุว่าหากผู้ขับขี่เห็นคนรอข้ามถนนแล้วต้องหยุดรถให้ข้ามในทันที และมีผลในทางปฏิบัติอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พื้นที่นั้นๆ มีการข้ามถนนตั้งแต่ 4 เลนขึ้นไป ต้องออกแบบให้มีพื้นที่เกาะกลาง สำหรับรอข้ามถนน และหากเป็นการข้ามถนนตั้งแต่ 8 เลนขึ้นไป TOD จะนำเสนอการสร้างสะพานลอยข้ามถนน หรือสะพานลอยข้ามบริเวณ 4 แยก ตัวสะพานลอยนอกจากจะสร้างความปลอดภัยให้คนเดินถนนแล้ว ยังสามารถปรับใช้สะพานลอยเป็นทางเดินเข้าอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และสถานีขนส่งสาธารณะได้อีกด้วย

ทั้ง 4 แนวทางนี้ คือ แนวทางในการออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้าตามมาตรฐานของ TOD เพื่อให้คนเมืองสามารถออกมาเดินริมถนนได้อย่างมีความสุขในทุกช่วงเวลา ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเสริมการเดินเท้าเพื่อเข้าถึงบริการร้านค้าในพื้นที่ กระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนให้สูงขึ้น ทำให้บริเวณรอบสถานีขนส่งสาธารณะ ไม่ได้เป็นเพียงแค่จุดสัญจร แต่ทำให้ทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีกลายเป็นศูนย์การค้าเปิด ที่เต็มไปด้วยร้านค้าของคนท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คน ที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการพัฒนานี้ร่วมกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด