Tuesday 19 March 2024 | 12 : 50 pm

7 ผักกินได้กินดี น้องหมากินผักอะไรได้บ้างนะ

คนที่เลี้ยงสุนัขอย่างเราๆ น่าจะคุ้นเคยกับการทำการบ้านว่าสัตว์เลี้ยงของเรากินอะไรได้บ้างหรือไม่ควรกินอะไรบ้าง แน่นอนว่าเจ้าของทุกคนมีความต้องการให้สัตว์เลี้ยงของเรามีสุขภาพดี ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนหลายๆ ครั้งเราจึงสรรหาอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้มาเพิ่มเติมให้น้องหมากิน บ่อยครั้งเรามักปรึกษาสัตวแพทย์ด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับการให้สุนัขกินผักว่ามันเป็นอันตรายหรือไม่ ทำอย่างไรให้น้องหมากินผักได้ วันนี้เราได้รวบรวมคำถามเหล่านั้นไปถามความเห็นของสัตวแพทย์ นสพ.ป้อมเพชร นพคุณวิจัย ที่ปรึกษาด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ทุกคนคลายข้อข้องใจกัน

นสพ.ป้อมเพชร นพคุณวิจัย ที่ปรึกษาด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง

แค่เราค้นคำว่า “ผักที่น้องหมาห้ามกิน” หรือค้นหาคำที่ใกล้เคียงนี้ ก็จะมีข้อมูลเยอะมากไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้รวมถึงอาหารอื่น โดยบทความจาก American Kennel Club[1] ได้กล่าวถึงเมล็ดแอปเปิ้ล องุ่น อโวคาโด หัวหอม กระเทียม และเชอรีว่าเป็นสิ่งที่ห้ามกินโดยเด็ดขาด อันตรายที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะมีเจ้าของบอกว่าเคยให้กินแล้วไม่เห็นเป็นอะไร แต่ในความเป็นจริงหากให้กินมากหรือนานกว่านั้นก็อาจเป็นอันตรายได้

ผักที่มีประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ซึ่งหาได้ง่ายในประเทศไทย โดยมีข้อมูลจากคลินิกโภชนาการ ที่มีการสอบถามถึงชนิดของผักที่เจ้าของเลือกให้บ่อย ๆ มีหลายชนิดที่สุนัขกินได้โดยไม่เป็นอันตรายหากได้ในปริมาณที่เหมาะสม 7 ผักเหล่านั้นได้แก่ (1) บร็อคโคลี (2) กะหล่ำปลี (3) ผักกาดขาว (4) ดอกกะหล่ำ (5) ฟักทอง (6) แครอท (7) ถั่วฝักยาว ล้วนเป็นผักที่สามารถให้ได้ แต่อาจต้องจำกัดปริมาณกันสักนิด เนื่องจากผักแต่ละชนิดก็ให้พลังงานมากน้อยต่างกัน ผักมีประโยชน์หลากหลาย เช่นมีวิตามินและแร่ธาตุสูง บางชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระ และบางชนิดมีใยอาหารสูงเพื่อช่วยให้อิ่มท้องแถมยังเป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารในการบีบตัวอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย

ความชอบของน้องหมาแตกต่างกัน ถ้าน้องหมาไม่ชอบกินผัก และให้อาหารที่ครบถ้วนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฝืนให้น้องกิน เนื่องจากในอาหารที่ให้นั้นมีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุอย่างเหมาะสมและเพียงพอแล้ว ในทางตรงข้าม ถ้าน้องหมาชอบกินผักมาก อาจต้องดูว่าเป็นชนิดใด และให้กินมากน้อยแค่ไหน เช่นการให้กินแครอทหรือฟักทองนั้นดีต่อสุขภาพ แต่ก็ทำให้อ้วนได้ ในกรณีการให้ผักโขม คะน้า หรือผักที่มีใบเขียวเข้มมากเกินไปก็จะทำให้ได้รับ “ออกซาเลท” (Oxalate) สูง ซึ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ ผลสำรวจจาก Minnesota Urolith Center[1] ชี้ให้เห็นว่าการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะสามารถเกิดจากการได้รับสารบางอย่างที่มากเกินไปหรือการขับน้ำในระบบปัสสาวะก็ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ว่านี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกหากน้องหมามีน้ำหนักตัวมากเกินหรืออ้วนเกินไปนั่นเอง ดังนั้นการให้ผักเพิ่มเติมจากอาหารที่ให้ในแต่ละวันก็จะต้องคำนึงถึงสารอาหารที่สุนัขจะได้รับเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นอีกด้วย

คุณหมอป้อมเพชร นพคุณวิจัย สัตวแพทย์ประจำคลินิกโภชนาการในโรงพยาบาลสัตว์หลายแห่ง ซึ่งมีความสนใจและมีประสบการณ์ด้านการจัดการโภชนาการให้น้องหมาน้องแมวมากว่า 10 ปี อีกทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรของมหาวิทยาลัยและงานประชุมวิชาการต่าง ๆ ที่มีหัวข้อเรื่องโภชนาการและโรคที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า “ถ้าจะว่ากันตรง ๆ แล้ว การให้ผักอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย หากน้องหมาได้รับอาหารที่ครบถ้วนและสมดุลอยู่แล้ว แต่ในบางกรณีที่น้องหมามีความต้องการพิเศษเช่นเป็นโรคบางโรคหรืออาหารที่มีในท้องตลาดไม่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพได้อย่างครบถ้วน คุณหมอก็อาจจะแนะนำผักบางชนิดได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายด้านพืชพรรณธัญญาหาร จึงมีความเป็นไปได้ที่เจ้าของจะลองให้กินอะไรแปลกใหม่โดยผักหลายชนิดไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายเลย ในขณะที่ผักบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวโดยต้องมีการสะสมในร่างกายเสียก่อน”

กล่าวโดยสรุปคือ การให้น้องหมาที่ชอบกินผัก ได้กินผักอร่อยๆ ที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ในปริมาณเล็กน้อยโดยหากรวมกับปริมาณของขนมน้องหมาแล้วไม่ควรเกิน 5-10% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ประกอบกับการให้มื้ออาหารหลักที่มีสารอาหารที่ครบถ้วน สมดุลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อสุขภาพ

[1] https://www.akc.org/expert-advice/nutrition/fruits-vegetables-dogs-can-and-cant-eat/#:~:text=Dogs%20digest%20differently%20than%20humans,as%20a%20treat%20is%20OK.

[1] https://www.vpatthailand.org/media/default/142/11%20VPAT%2062%3A%20Nov%202011.pdf