รัฐบาลไต้หวัน รับมือการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตามเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดระดับสากล ทุ่มงบ 5.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สร้างสายการผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 60 แห่งให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มเดินกำลังผลิตพร้อมกันในเดือนมีนาคม เพื่อตอบสนองความต้องการหน้ากากอนามัยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยผสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อสร้างสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ พร้อมจัดตั้งทีมงานแห่งชาติ “ซัพพลายเชนหน้ากากผ่าตัด MIT” รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการผลิตของไต้หวันขึ้นร่วมดำเนินการอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้สามารถผลิตหน้ากากได้ 10 ล้านชิ้นต่อวัน ภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ ส่งผลให้ไต้หวันเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
นายอู๋ จุ้น เจ๋อ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสในไต้หวัน รัฐบาลไต้หวัน มอบงบประมาณ 5.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ออกนโยบายเร่งผลิตหน้ากากอนามัยเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ซึ่งไต้หวันมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะผู้ผลิตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ประกาศขอความร่วมมือจากทางภาครัฐ และเอกชน ในกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ นายเสิ่นหรงจิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน นายสู่เหวินเสี้ยน ประธานสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือกลและอุปกรณ์เสริมไต้หวัน และนายเหยินจวีเซียง ประธานบริษัทตงไถ พร้อมจัดตั้งทีม “ซัพพลายเชนหน้ากากผ่าตัด MIT” ประกอบด้วยสถาบันวิจัยต่างๆ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรความแม่นยำสูง (Precision Machinery Research & Development Center -PMC) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโลหะ (Metal Industries Research and Development Center-MIRDC) และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute-ITRI) ตลอดจนบริษัทเครื่องมือกลและเครื่องจักรจำนวนมาก อาทิ ฮาเบอร์ พรีซิชัน อิงก์, ตงไถ, ทากิซาวะ ไต้หวัน, คอนเทรล เทคโนโลยี, เอเว็กซ์-เอสจี เทคโนโลยี อิงก์, ไฮวิน, คีย์แอร์โรว์, บจก.โพซา แมชชีนเนอรี, เซียยี่, ซันเฟิร์ม, วายซีเอ็ม และ อาเวีย เป็นต้น ซึ่งหลายบริษัทต่างเคยได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของไต้หวัน (Taiwan Excellence) มาแล้ว
บริษัทเหล่านี้ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญรวบรวมจัดสรรกำลังคนเพื่อนำเทคโนโลยีระดับโลกของไต้หวันและส่วนประกอบสำคัญของมอเตอร์จักรกลมาสร้างสายการผลิตหน้ากากให้รัฐบาลอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-woven fabric) เช่น นันลิว, เคเอ็นเอช, มายเทร็กซ์, ฟอร์โมซา พลาสติก และอื่นๆ ต่างเร่งจัดหาผ้าไม่ถักทอป้อนสายการผลิตเป็นภารกิจหลัก เพื่อตอบสนองสายงานการผลิตหน้ากากภายในประเทศในช่วงป้องกันโรคแพร่ระบาดของชาติ
การสร้างสายการผลิตหน้ากาก 60 แห่งให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนถือเป็นภารกิจที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนบริษัทต่างๆ ภารกิจที่คาดว่าน่าจะใช้เวลาถึงครึ่งปีถึงจะแล้วเสร็จกลับสำเร็จได้ภายในเดือนเดียว คาดว่ากำลังการผลิตหน้ากากต่อวันจะเพิ่มถึง 100,000 ชิ้นต่อสายการผลิตในช่วงกลางเดือนมีนาคม หากสายการผลิตหน้ากากทั้งหมด 60 แห่งเดินเครื่องเต็มกำลัง สามารถเพิ่มกำลังผลิตหน้ากากขึ้นได้เป็น 6 ล้านชิ้นต่อวัน เมื่อรวมกับกำลังการผลิตปกติ 4 ล้านชิ้นต่อวัน จะส่งผลให้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้สูงสูดถึง 10 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้ไต้หวันกลายเป็นผู้ผลิตหน้ากากรายใหญ่อันดับสองของโลก
อุตสาหกรรมเครื่องมือกลและเครื่องจักรของไต้หวันเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการผลิตหน้ากาก บริษัทต่างๆ ยินดีที่จะระงับการประกอบการตามปกติแบบชั่วคราวและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการผลิตหน้ากากอนามัยในช่วงสภาวะวิกฤตอย่างเต็มที่ สะท้อนถึงความเป็นเอกภาพ ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการจัดการวิกฤติของอุตสาหกรรมไต้หวัน
ในแง่ของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจแล้ว อุตสาหกรรมเครื่องจักรไต้หวันมีผลผลิตมากกว่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าการส่งออกเกิน 26.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังการเปิดตัวเครื่องจักรกลอัจฉริยะ สามารถผลิตและส่งออกหน้ากากกว่า 1 แสนล้านชิ้น หรือเป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2018
ในการนี้ องค์กร Taiwan Excellence จะจัดแสดง Taiwan Excellence Pavilion ซึ่งจะมีบริษัทที่ได้รับรางวัลTaiwan Excellence Award มาจัดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่งาน Manufacturing Expo ที่กรุงเทพ ในวันที่ 24-27 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา และงาน Automation Expo มุมไบ เพื่อโปรโมตอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอัจฉริยะและเผยความแข็งแกร่งทางอุตสาหกรรมของไต้หวันออกสู่สายตาชาวโลกต่อไป
เกี่ยวกับ Taiwan Excellence
ทำความรู้จักกับ Taiwan Excellence ได้ที่ : หรือผ่านทาง Facebook : https://www.facebook.com/TaiwanExcellence.TH/
รางวัล Taiwan Excellence Awards ก่อตั้งโดยกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน (MOEA) ในปี 1993 ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์นี้ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 4 หัวข้อคือ การวิจัยและพัฒนา, การออกแบบ, คุณภาพและการตลาดที่คัดเลือกโดยรัฐบาล และผลงานที่ได้รับรางวัลนี้เป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงความยอดเยี่ยม และความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม สัญลักษณ์นี้ได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จักทั่วโลกมากกว่า 106 ประเทศ