การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ และ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดนิทรรศการอันทรงคุณค่าและหาชมได้ยาก “นิทรรศการศิลปะปีนักษัตรต้อนรับตรุษจีนของ หาน เหม่ยหลิน” รวบรวมผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมกว่า 200 ผลงาน รังสรรค์โดยศิลปินชั้นครูชาวจีน “หาน เหม่ยหลิน” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-27 มกราคม 2563 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ และฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ และศูนย์การค้าสยามพารากอน นำเสนอผลงานของศิลปินจีนระดับบรมครู “หาน เหม่ยหลิน” ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินจีนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในโลก โดยนิตยสาร Global Times และได้รับรางวัลเกียรติยศว่าเป็นบุคคลผู้อุทิศตนให้กับวงการวรรณกรรมและศิลปะของจีน โดย “นิทรรศการศิลปะปีนักษัตรต้อนรับตรุษจีนของ หาน เหม่ยหลิน” จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ชื่นชอบงานศิลปะและประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมผลงานอันทรงคุณค่าระหว่างวันที่ 21-27 มกราคม 2563 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีน สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ศูนย์วัฒนธรรมจีน และศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมจัดนิทรรศการศิลปะปีนักษัตรต้อนรับตรุษจีนของ หาน เหม่ยหลิน ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลตรุษจีนประเทศไทย ประจำปี 2563 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน และครบรอบ 60 ปีการสถาปนา ททท. และยังถือเป็นปีพิเศษที่ได้รับเกียรติอย่างมากจากอาจารย์หาน เหม่ยหลิน ศิลปินแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีความสามารถทางศิลปะที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเขียนพู่กันจีน นำผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมาจัดแสดงในช่วงเทศกาลตรุษจีนกว่า 300 ชิ้นงาน ทั้งที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯนับเป็นครั้งแรกที่นำมาจัดแสดงในประเทศไทย ซึ่งทุกท่านจะได้มีโอกาสชื่นชมคุณค่าผ่านผลงานศิลปะจากศิลปินที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน”
นิทรรศการครั้งนี้ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรมโดยใช้พู่กันจีนในคอนเซ็ปต์ “เชิงเสี้ยว” หรือ ปีนักษัตรจีนที่นำสัตว์ 12 ชนิดซึ่งมีลักษณะเฉพาะมาเป็นสัญลักษณ์แทนแต่ละราศีใน 1 รอบ เป็นวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของจีนที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและยังส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปินจำนวนมากที่แฝงด้วยจิตวิญญาณของธรรมชาติและความเป็นสิริมงคล รวมถึงผลงานประติมากรรมทองเหลืองที่แสดงถึงความอบอุ่นและความประณีตงดงาม
หาน เหม่ยหลิน ศิลปินชั้นครูที่เป็นตัวแทนของศิลปินจีนร่วมสมัย เป็นที่รู้จักจากผลงานที่สื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมจีนและสะท้อนถึงความเป็นไปของโลกใบนี้ ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ 12 ปีนักษัตรจีน โดยหาน เหม่ยหลิน สามารถถ่ายทอดลักษณะเฉพาะของทั้ง 12 ราศีผ่านงานศิลปะได้อย่างแยบยล ผลงานของเขาเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและมีพลังดึงดูดชวนมองสอดรับกับรสนิยมของสาธารณชน งานส่วนใหญ่มักถ่ายทอดถึงความธรรมดาสามัญ ความไร้เดียงสา และความเป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ในบางครั้งก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในฝันที่เราอยากพานพบ อย่างไรก็ตามงานศิลปะของเขามักส่งสารที่ย้ำว่า “สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเท่าเทียมกันและทุกสิ่งบนผืนแผ่นดินนี้ล้วนมีจิตวิญญาณ” ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อดั้งเดิมของจีนที่ว่า “มนุษย์และธรรมชาติล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน” และเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาวะตื่นรู้ของทุกสรรพสิ่งและการพัฒนาที่สอดประสานกับกฏของธรรมชาติ
ด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั่วโลกทำให้วัฒนธรรมเกี่ยวกับปีนักษัตรจีนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขั้นในนานาประเทศ ในประเทศไทยลำดับของนักษัตรอาจแตกต่างกับทางจีนเนื่องจากสภาพแวดล้อมและลักษณะทางภูมิศาสตร์ นิทรรศการที่กรุงเทพฯครั้งนี้เป็นนิทรรศการต่อเนื่องจาก “หาน เหม่ยหลิน: นิทรรศการศิลปะปีนักษัตรจีน” ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ.2562 การถ่ายทอด “นักษัตร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีนผ่านภาษาศิลปะเฉพาะตัวของหาน เหม่ย หลิน สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและกรุงเทพฯที่อยู่ห่างกันหลายพันไมล์เข้าด้วยกันและช่วยให้เราตระหนักถึงความคล้ายคลึงกันทางด้านวัฒนธรรมและการขับเคลื่อนทางศิลปะ
เชิญร่วมสัมผัสความงดงามอันวิจิตรต้อนรับเทศกาลตรุษจีนใน “นิทรรศการศิลปะปีนักษัตรต้อนรับตรุษจีนของ หาน เหม่ยหลิน” ระหว่างวันที่ 21-27 มกราคมนี้ ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน สอบถามโทร.02-610-8000 หรือ www.siamparagon.co.th หรือ FB: SiamParagon หรือสามารถชมนิทรรศการเพิ่มเติมได้ระหว่างวันที่ 20 มกราคม–9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ