คลินิกความงามและสาวไทย ระวังโดนหลอก เสียเงินฟรี ไม่เห็นผล แถมอาจเสี่ยงหน้าพัง!!!
เมิร์ซ เอสเธติกส์ ผู้นำนวัตกรรมความงามจากเยอรมัน จัดงานแถลงข่าว ‘Ultherapy Real Matters’ นำโดย เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ไทยแลนด์และอินโดไชน่า ที่มาร่วมแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องอัลเธอร่าแท้ พร้อมผลกระทบจากการเข้ารับบริการเครื่องอัลเธอร่าปลอม รวมทั้งทำความรู้จักเครื่องอัลเธอร่ากับ แพทย์หญิง นันทภัทร์ สุภาพรรณชาติ แพทย์ผิวหนัง ผู้ก่อตั้ง APEX Medical Center และอาจารย์พิเศษสาขาศัลยกรรมผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล พร้อมรับฟังกฏหมายการละเมิดเครื่องหมายการค้าและมาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการและการแจ้ง-ร้องเรียน จาก ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย บริษัท สยาม จัสติส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ปิดท้ายด้วยการพูดคุยกับ กาละแม พัชรศรี เบญจมาศ ที่มาแชร์ความรู้สึกและข้อซักถามในฐานะผู้บริโภค เพื่อให้ความรู้ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการเสริมความงามด้วยเครื่องอัลเธอร่า พร้อมสร้างความตระหนักรู้ต่อคลินิกความงาม ผู้บริโภคและสื่อมวลชนในประเทศไทย ในการร่วมกันสอดส่องสถานบริการที่นำเข้าหรือให้บริการเครื่องอัลเธอร่าปลอม เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้รับบริการ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
แพทย์หญิง นันทภัทร์ สุภาพรรณชาติ แพทย์ผิวหนัง ผู้ก่อตั้ง APEX Medical Center และอาจารย์พิเศษสาขาศัลยกรรมผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจคลินิกความงามได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งนวัตกรรมความงามที่ผู้บริโภคให้ความนิยม คือ การใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ ชนิด Micro Focused Ultrasound with Visualization (MFU-V) โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อยกกระชับใบหน้าผ่านเครื่องอัลเธอร่า ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ สามารถเห็นผลลัพธ์ทันทีตั้งแต่หลังการรักษา ไม่ต้องพักฟื้น และจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการรักษาอยู่ได้ประมาณ 1 – 2 ปี โดยผลลัพธ์ที่ได้ของแต่ละบุคคลนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพผิว อายุ และการดูแลรักษาหลังการทำ จึงทำให้มีผู้ลอกเลียนแบบเทคโนโลยีความงามนี้เพิ่มมากขึ้น โดยให้ราคาที่ต่ำกว่า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เข้ารับบริการ โดยหากผู้เข้ารับบริการรู้เท่าไม่ถึงการ และตัดสินใจเข้ารับบริการผ่านเครื่องปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะทำให้ไม่เห็นผล จนเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ และอาจจะเกิดผลกระทบต่อผิวหน้าได้ หมอจึงอยากแนะนำสาวๆ ทุกคนที่อยากสวย ต้องสวยอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาศึกษาข้อมูลเยอะๆ ว่าเครื่องแท้จริงเป็นอย่างไร มีคลินิกใดบ้างที่ได้มาตรฐานและให้บริการเครื่องแท้ ที่สำคัญคือต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการด้วย”
เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ไทยแลนด์และอินโดไชน่า กล่าวว่า “เครื่องอัลเธอร่า จากเมิร์ซ เป็นเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ที่มีหน้าจอสแกนผิวแบบ real time visualization ช่วยให้แพทย์ผู้ทำการรักษา มองเห็นชั้นผิวขณะทำและส่งพลังงานไปยังผิวชั้นที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญผ่านการรับรองความปลอดภัยมาจาก FDA (U.S. Food and Drug Administration) สำนักงานอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาว่าสามารถยกกระชับใบหน้าได้จริง จึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพ และยังมีการให้บริการมากกว่า 5,000 เครื่องทั่วโลก และมากกว่า 200 เครื่อง ในคลินิกระดับพรีเมี่ยมทั่วประเทศ โดยเมิร์ซ เอสเธติกส์ ไทยแลนด์ เป็นผู้นำเข้าเครื่องอัลเธอร่าที่ถูกกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และด้วยประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค กล่าวคือ ผู้เข้ารับบริการไม่ต้องพักฟื้น ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากทั้งผู้เข้ารับบริการและคลินิก ทั้งนี้ อัตราค่าบริการการปรับรูปหน้าโดยใช้เครื่องอัลเธอร่ามีราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจุดนี้จึงเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการผลิตและนำเข้าเครื่องอัลเธอร่าปลอม ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพและผิดมาตรฐาน โดยล่าสุด เมิร์ซ เอสเธติกส์ ได้รับรายงานจากผู้บริโภคผ่านทาง Inbox ของ FB Page เรื่องการเข้ารับบริการโดยมีการแอบอ้างและใช้เครื่องอัลเธอร่าปลอม จึงตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น อันได้แก่ ไม่เห็นผลในการยกกระชับใบหน้า ทำให้เกิดความเสียหายด้านทรัพย์สิน และยังอาจนำไปสู่การเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผิว จนกลายเป็นแผลเป็นบนใบหน้าได้อีกด้วย”
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย บริษัท สยาม จัสติส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า“การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะสามารถส่งผลกระทบทั้งในระดับผู้บริโภค ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและตนเองได้ โดยสินค้าหรือบริการบางประเภทอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตด้วยเช่นกัน ในระดับผู้ประกอบการ จะได้รับผลกระทบ ทั้งในด้านของราคา สินค้าและบริการ ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจในภาพรวม และหากสินค้าปลอมเกิดปัญหา ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาแท้จริงก็จะได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการประเภทนั้น และเสียรายได้จากการเข้าใจผิดถึงแหล่งที่มาของสินค้าจากผู้บริโภคไปด้วย และสำหรับภาคธุรกิจในระดับประเทศ เนื่องจากในระดับเศรษฐกิจโลก จะมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องของการใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และยังมีสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่คอยตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ประเทศ ซึ่งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะทำให้ประเทศนั้นๆ ถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ และยังส่งผลต่อ “ภาพลักษณ์” ทำให้นักลงทุนที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศขาดความเชื่อมั่น ส่งผลให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางการค้าไปอย่างมหาศาล”
เพื่อลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพและถาวร จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง นั่นคือการส่งเสริมให้คนไทยรับรู้ ตระหนักและเข้าใจว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นผิดกฎหมาย ทำอย่างไรจึงจะไม่ละเมิดและปลอดภัยต่อตัวเอง โดยสามารถเริ่มได้จากตัวเรา หากผู้บริโภคหรือคลินิกมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการอย่างละเอียด ก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการถูกหลอก และยังมีส่วนที่จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีจำนวนลดน้อยลง รวมทั้งหากพบเจอสินค้าหรือบริการที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผู้บริโภคสามารถแจ้งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ดำเนินการฟ้องร้องและดำเนินคดี โดยแจ้งร้องทุกข์ได้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเพิ่มเติมและตรวจสอบคลินิกที่ให้บริการเครื่องอัลเธอร่าได้ที่ www.merzclubthailand.com หรือติดตามข่าวสารที่ Facebook : MerzAestheticsThailand