Sunday 19 May 2024 | 6 : 41 am

AIS ร่วมฉลอง ‘วันสตรีสากล’ ส่งต่อแรงบันดาลใจและความท้าทาย ของ 4 ผู้บริหารหญิง Women in Tech กับภารกิจ Digital Literacy เพื่อคนไทย

ในโลกการทำงานยุคใหม่ คำว่า Diversity & Inclusion ได้กลายเป็นหนึ่งในฐานรากสำคัญขององค์กรที่ยึดมั่นเรื่องความเท่าเทียม สนับสนุน ยอมรับ และให้คุณค่าของบุคลากรที่หลากหลายในองค์กร เพื่อนำมาส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน AIS องค์กรด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ที่มีพนักงานกว่า 14,000 คน ก็ขับเคลื่อนองค์กรด้วยกรอบคิดที่ว่านี้เช่นกัน ทำให้วันนี้พนักงานเกินครึ่งในสายงานเทคโนโลยีเป็นผู้หญิง และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นเพราะ AIS มองข้ามเรื่องเพศสภาพแต่ให้ความสำคัญที่ความสามารถของบุคลลเป็นหลัก และเนื่องใน “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) AIS จึงร่วมเฉลิมฉลองด้วยการส่งต่อพลังแก่ “ผู้หญิง” สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นพลังใจให้ทุกคนก้าวข้ามทุกข้อจำกัด ทลายทุกขีดจำกัด และทิ้งอคติเดิมๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ตัวเองและส่วนร่วมต่อไป ผ่านแนวคิดการทำงานของ 4 ผู้บริหารหญิงในบทบาท Women in Tech ที่มาพร้อมภารกิจขับเคลื่อน Digital Literacy สร้างรากฐานด้านดิจิทัลให้คนไทยเข้าถึงประสบการณ์การใช้งาน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและยกระดับสังคมไทยให้ก้าวทันโลกดิจิทัล

เจี๊ยบ-กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และกลุ่มอินทัช ทำหน้าที่รับผิดชอบสายงานด้านทรัพยากรบุคคลและการ Transform Skill ให้กับพนักงานเพื่อให้สามารถรับมือกับ Digital Disruption เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของเธอว่า หลักๆ คือ Transform Organization ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม องค์ความรู้ และศักยภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานกว่า 14,000 คนใน AIS จะขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางความท้าทายของโลกยุคใหม่ได้ ภายใต้กรอบคิดที่ทำให้ชีวิตไร้ขีดจำกัด ผ่าน Leaning Platform และการสร้างวัฒนธรรมต่างๆ ที่ยอมรับในเรื่องความแตกต่างทุกด้าน เพราะเราเชื่อว่าส่วนผสมของความแตกต่างทำให้เกิดนวัตกรรมได้โดยไม่จำกัดเพศสภาพ

AIS ทุกคนวัดกันที่ความสามารถ เรามีจำนวนผู้บริหารหญิงซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อันเป็นหัวใจสำคัญและก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแม้แต่การดำเนินภารกิจตามเป้าหมายหลักขององค์กร ที่ต้องการสร้างความแข็งแรงด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ขับเคลื่อน Digital Literacy เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างสังคมแห่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ผ่านนวัตกรรมและดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ จนได้รับการยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร”

อ๊อบ-นัฐิยา พัวพงศกร Head Of Investor Relations  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หน้าที่หลักของเธอคือ การดูแลงานด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการสื่อสารกับนักลงทุนในด้านทิศทางธุรกิจและภาพรวมการดำเนินงานขององค์กร เพื่อผลักดันทิศทางของบริษัทให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเอไอเอสไม่ได้โฟกัสแค่ผลประกอบการและกำไรเท่านั้น แต่มองถึงการเติบโตของ สังคม สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ด้วย ดังนั้น เป้าหมายด้านความยั่งยืนในแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล การสนับสนุนให้สังคมเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และการยืนหยัดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ล้วนต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทและมุมมองของแต่ละ stakeholder ที่มีความแตกต่าง

“สิ่งสำคัญคือเน้นการพูดคุยด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง ทำความเข้าใจในความต่างและสร้างความชัดเจนของเป้าหมายร่วม ทำให้ทุกฝ่ายเปิดใจสนับสนุนเพื่อผลักดันภารกิจด้านความยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมาย ยิ่งเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สิ่งที่เรามองหาคือคนที่มีวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิม ซึ่ง AIS ทำได้ชัดเจนมากๆ คือ ระบบในการหาคนและโปรโมทคนมีความชัดเจน จึงก้าวข้ามเรื่องเพศและไปดูกันที่ความสามารถ”  

เอื้อง-สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายผ่านการสร้างภาพลักษณ์ เธอบอกว่า “ชื่อเสียงไม่ได้สร้างได้ชั่วข้ามคืนแต่ต้องผ่านการสะสม และพิสูจน์ตัวตนจนเกิดความเชื่อมั่น ภารกิจของเราคือ การสร้างชื่อเสียงขององค์กรผ่านการขับเคลื่อนหลายรูปแบบ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคพันธมิตร คู่ค้า และพนักงานของเรา ไปพร้อมๆ กับดูแลงานประชาสัมพันธ์ ยกระดับความรู้ ความเข้าใจด้านทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลที่ต้องรู้เท่าทันภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อเชื่อมต่อภาคสังคม ชุมชน และประชาชน กับนโยบายของภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพนักงานและผู้บริหารทุกเพศ ทุกวัย เราให้คุณค่ากับทัศนคติมากกว่าเพศสภาพ

AIS จึงมีแนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร เปิดรับทุกข้อเสนอแนะและความคิดเห็นไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม แน่นอนว่า จะทำให้การสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่คนไทย สามารถขยายผลในวงกว้าง และสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน”

เจี้ยม-รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง Digital Service และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเติบโตของ Digital Ecosystem เพื่อให้พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน กล่าวเสริมเช่นกันว่า

AIS เป็นองค์กรที่ให้โอกาสพนักงานทุกเพศ ทุกวัย ในการเรียนรู้ ทดลองทำเรื่องใหม่ๆ อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบ Digital Service เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของ Ecosystem ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ วงการกีฬา, เกม, และอีสปอร์ต ที่เป็นเทรนด์ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่  ซึ่งการผลักดันงานด้านนี้ ไม่เคยมีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไข ตรงกันข้าม กลับได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จนทำให้เชื่อมั่นว่าการส่งต่อ Digital Service ที่จะสร้างประโยชน์ ต่อยอดการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม จะเป็นผลสำเร็จและเสริมความแข็งแกร่งของ Digital Economy ประเทศได้อย่างแน่นอน”

บทบาทของผู้หญิงใน Tech Company และบทบาทชีวิตในโลกปัจจุบัน 

เจี๊ยบ-กานติมาบอกถึงผู้หญิงทุกคนว่า จงสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ภายใต้ศักยภาพที่ตัวเองมี ทั้งในโลกการทำงานและการใช้ชีวิต มีคำสามคำที่อยากฝากถึงผู้หญิงทุกคนคือ ธรรมชาติ, เหมาะสม และพอดี ทั้งสามคำนี้จะทำให้เราเคลื่อนตัวและอยู่ในบทบาทของโลกได้อย่างน่ารัก ประเทศไทยค่อนข้างเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง แต่ข้อจำกัดบางอย่างมันเกิดจากกรอบความคิดของเราเอง

“ดังนั้น เนื่องในวันสตรีสากล ก็อยากให้วันนี้เป็นวันที่ผู้หญิงทุกคนเตือนสติตัวเองให้หยุดหาความพิเศษหรือโอกาสที่ได้มากกว่าคนอื่นเพียงเพราะเพศสภาพเราเป็นผู้หญิง แล้วลุกขึ้นมาแสดงศักยภาพตัวเองให้ทุกคนเห็นว่าเรามีความเข้มแข็ง มีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบ ไม่หยุดพิจารณาตัวเองว่ายังมีอะไรที่ขาดและหมั่นเติมเต็มสิ่งเหล่านั้น และเมื่อไรที่เจอความท้าทายให้มองเป็นแรงผลักดันที่จะก้าวข้ามและทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้”

อ๊อบ-นัฐิยา มองว่า เราอยู่ในยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว นั่นหมายความว่าตัวเราต้องเรียนรู้ให้ไว เคลื่อนตัวให้ไว และรู้เท่าทัน คำว่ารู้เท่าทันสำคัญที่สุดคือ รู้เท่าทันใจตัวเอง ว่าเรากำลังเคลื่อนตัวไปยังบริบทไหนหรือใช้สติในการสร้างสรรค์งานหรือดิจิทัลให้เป็นประโยชน์กับตัวเราและคนรอบข้างได้อย่างไร ซึ่งความท้าทายมันมาในบริบทของขีดความสามารถ ไม่ใช่บริบทของเพศสภาพ สิ่งที่ผู้หญิงทำได้และต้องทำคือ อย่าปิดกรอบความคิดของตัวเอง เพราะมันนำมาซึ่งอคติต่อตัวเองหรือความเชื่อแบบเดิมๆ เมื่อไรก็ตามที่เราเปิดกรอบความคิดจะทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น ทำให้เรามองทุกสิ่งอย่างเป็นธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สำหรับ เอื้อง-สายชล เชื่อเสมอว่าคุณค่าสำคัญอยู่ที่ทัศนคติในตัวบุคคลไม่ใช่เพศสภาพ “หลายคนยังมีความคิดว่าประชาสัมพันธ์ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จริงๆ แล้วงานประชาสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับแก่นของสิ่งที่คุณจะสื่อสาร คนที่จะเป็นนักประชาสัมพันธ์และจะเป็นผู้นำทางด้านนี้จึงต้องจับประเด็นและสามารถสื่อสารได้ตรงเป้าหมายต่างหากคือสิ่งสำคัญ”

เจี้ยม-รุ่งทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายถึงโลกยุคใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงความสามารถในหลายบทบาทมากขึ้น “ทุกวันนี้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในอาชีพมากมาย เป็น CEO เป็นเจ้าของกิจการ สะท้อนว่าผู้หญิงมีบทบาทในเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น จึงอยากชวนให้ผู้หญิงทุกคนอัปสกิลอยู่เสมอเพื่อพร้อมกับการเปลี่ยนทุกรูปแบบ และอย่ารอโอกาสและคงสร้างโอกาสให้กับตัวเอง แล้วแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเพศไหนก็ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญได้เช่นกัน” มุมมองของ 4 ผู้บริหารหญิงที่เป็นเสมือนฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กรด้านเทคโนโลยี สามารถเป็นการส่งต่อพลังความคิดและแรงบันดาลใจ เนื่องในวันสตรีสากล International Women’s Day 8 มีนาคม 2565 ได้เป็นอย่างดี ทำให้เราเชื่อว่า บทบาทต่อการขับเคลื่อน Digital Literacy ภายใต้เป้าหมายหลักขององค์กรที่ต้องการนำ Digital มายกระดับประเทศนั้นไม่จำกัดเพศสภาพ ขอแค่คุณพร้อมจะเปิดรับ เปลี่ยนแปลง และเชื่อมั่น AIS ขอร่วมส่งต่อพลังแก่ “ผู้หญิง” ให้เชื่อมั่นในศักยภาพ พร้อมก้าวข้ามทุกขีดจำกัด และ อคติต่างๆ อีกทั้งกล้าที่จะแสดงขีดความสามารถ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกแก่ตนเองและส่วนรวมต่อไป