ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับเวที ‘Cisco Innovation Challenge 2019’ ครั้งแรกในประเทศไทย ที่ ซิสโก้ ตั้งใจจัดขึ้น เพื่อเฟ้นหาโซลูชั่นและนวัตกรรมพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นและน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยี มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากไอโอที (IoT) และ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity) ผ่านแนวคิดคนไทยที่สนใจการพัฒนาเทคโนโลยีและชื่นชอบการสร้างนวัตกรรม โชว์ศักยภาพการออกแบบโซลูชั่นที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยรอบตัดสินจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ เผยถึงวัตถุประสงค์การแข่งขันครั้งนี้ว่า “ซิสโก้มีความตั้งใจมาโดยตลอดที่จะสนับสนุนให้คนไทยสร้างสรรค์ความคิดในการแก้ไขปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยใช้ประโยชน์จาก IoT และ Cybersecurity ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยดิจิทัล ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในปัจจุบันเป็นสิ่งที่องค์กรและธุรกิจให้ความสนใจอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาที่สังคม รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ทุกวันนี้องค์กรและธุรกิจต่างๆ ไม่มีคำถามว่าควรจะทรานส์ฟอร์มหรือไม่ แต่ “เมื่อไหร่” ที่จะทรานส์ฟอร์ม เราหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแนวคิดเหล่านี้ และช่วยสานฝันของพวกเขาให้กลายเป็นจริง รวมทั้งกระตุ้นให้คนทั่วไปเล็งเห็นความสำคัญของดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นที่จะส่งผลกระทบวงกว้าง และพร้อมรับมือสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งองค์กรหรือธุรกิจต่างๆ ที่ไม่ปรับตัวจะไม่สามารถตามคู่แข่งได้ทัน”
“ตลอดระยะเวลาของการแข่งขัน ซิสโก้ได้เห็นมุมมอง แนวคิด ตัวอย่างของโซลูชั่นแปลกใหม่ที่พัฒนาด้วยความตั้งใจจริงของคนรุ่นใหม่ที่จะนำเอา IoT และเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมเข้ากับดาต้าและอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ที่ใช่ในชีวิตประจำวันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนมากกว่าแต่ก่อน ทุกไอเดียที่เสนอมาเป็นแนวคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างรวดเร็ว และซิสโก้จะช่วยทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงให้ได้” วัตสัน กล่าวเสริม
ซิสโก้มุ่งมั่นในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์เพื่อนำประโยชน์มาสู่ท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาที่มนุษย์กำลังเผชิญด้วยเทคโนโลยี โดยในปี พ.ศ. 2557 ซิสโก้ได้ริเริ่มโครงการ “Global Problem Solver Challenge” นำไปสู่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ระบบรดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์, แพลตฟอร์มวิดีโอที่ภาพคมชัดบนทุกความเร็วอินเทอร์เน็ต, แอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรค หรือกล้องที่สามารถตรวจจับท่าทางการเคลื่อน ไหวของคนได้ นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นไอเดียของการประยุกต์ซึ่งเทคโนโลยีและจินตนาการของมนุษย์ ผนวกกันจนกลายเป็นนวัตกรรมสุดล้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราให้ง่ายและสบายยิ่งขึ้น และนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่มาจากการประกวดไอเดียและนวัตกรรมของซิสโก้นั่นเอง
การเปิดเวทีแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้การตอบรับอย่างอบอุ่น ภายใต้โจทย์สำคัญเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมโดยอาศัยเทคโนโลยี พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การศึกษา สาธารณสุข พลังงาน สิ่งแวดล้อม คมนาคม เกษตรกรรม ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีผู้สนใจทั่วประเทศรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ต่างให้ความสนใจและแสดงความมุ่งมั่นต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งผลงานร่วมแข่งขันมากกว่า 70 ทีม แต่ละทีมมีการเสนอไอเดียนวัตกรรมเพื่อผ่านเข้ารอบเป็น 3 ทีมสุดท้าย ในการชิงเงินรางวัลกว่า 200,000 บาท ได้แก่ รางวัลชนะเลิศมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มูลค่า 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มูลค่า 30,000 บาท และรางวัล Popular Vote จากสื่อมวลชนพร้อมกันนี้ทีมชนะเลิศจะได้รับประกาศนียบัตรและโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลก ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนหลักสูตรออนไลน์ “Introduction to IoT” และ
“Introduction to Cybersecurity” จัดโดย Cisco Networking Academy โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และได้รับประกาศนียบัตรจาก บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับโค้งสุดท้ายบรรยากาศภายในงานรอบตัดสิน Cisco Innovation Challenge 2019 ที่เพิ่งจบลง เต็มไปด้วยความคึกคัก ในภาคเช้าผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบ ต่างนำเสนอโครงการ ที่มีศักยภาพในการนำนวัตกรรมมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ต่อคณะกรรมการ จนในที่สุดผลของการแข่งขัน ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศได้แก่ผลงาน “แพล็ตฟอร์มดิจิทัลช่วยชาวนาตัดสินใจจาก Data-Driven” จากทีม Ricult รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ผลงาน “การควบคุมฟาร์มนกนางแอ่น” จากทีม Captain Thai-Nichi Team และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ด้แก่ “Parking Space Application” จากทีม Parkspace สำหรับ รางวัล Popular Vote ตกเป็นของ ทีม Ricult
โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformations จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด และ อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ให้เกียรติร่วมตัดสิน
หลังจากการรับมอบรางวัล ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ทีมเผยความรู้สึกในการร่วมแข่งขัน “Cisco Innovation Challenge 2019” ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยว่า “ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณ ซิสโก้ ที่เปิดเวทีดีๆ ให้ใครก็ตามที่มีไอเดียอยากร่วมแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ว่าเพศไหน วัยใด ได้นำเสนอผลงาน ถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการนำไปต่อยอด เป็นแรงผลักดันให้พัฒนาและสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้นต่อๆ ไป
สำหรับไอเดีย ทีมผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ จากทีม Ricult ผลงาน “แพล็ตฟอร์มดิจิทัลช่วยชาวนาตัดสินใจจาก Data-Driven” เราได้แรงบันดาลใจมาจากเกษตรกรในประเทศไทย ที่ยังประสบปัญหาด้านการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้น้อย จึงสร้างรายได้ต่ำ เรามองว่าสิ่งที่เราคิดจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ส่วนการจะไปร่วมแข่งขันในเวทีโลก ถามว่ากดดันไหม ยอมรับว่าตื่นเต้น แต่เราจะทำให้เต็มที่ และเต็มกำลังอย่างแน่นอน และต้องขอบคุณซิสโก้กับการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเรา ทำให้ได้รู้ได้เห็นอะไรมากขึ้น ให้เราได้มีพื้นที่แสดงไอเดีย ถือเป็นการได้ต่อยอดมุมมองใหม่ๆ ไม่ใช่แค่ในโครงงานของเรา” อุกฤษ อุณหเลขกะ ตัวแทนทีม Ricult กล่าว
สำหรับไอเดีย รองชนะเลิศอันดับ 1 จากทีม Caption Thai-Nichi Team กับผลงาน “การควบคุมฟาร์มนกนางแอ่น” เราต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมคณภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงนกแอ่นกินรัง โดย ใช้เทคโนโลยี IOT เซนเซอร์ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วย ด้วยการพัฒนานี้ จะช่วยตอบโจทย์ในภาคธุรกิจในการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง ทั้งในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนได้มาก ซึ่งเราจะนำไปพัฒนาต่อยอดต่อๆไป การได้มาร่วมเวทีกับผู้เข้าแข่งขันอื่นๆ อีกหลายสิบทีม ทำให้เราก็ได้แรงบันดาลใจดีๆ กลับไปต่อยอดในการทำงาน รวมถึงได้แนวคิดใหม่ๆ อีกมากมาย” นิธิศ มนต์บุรีนนท์ ตัวแทนจากทีม Captain Thai-Nichi Team กล่าว
สำหรับไอเดียผลงาน “Parking Space Application” รองชนะเลิศอันดับ 2 จากทีม Parkspace เกิดจากตัวเองที่เคยประสบปัญหาการหาที่จอดรถยาก ซึ่งหลายๆ คนก็คงเคยประสบ ก็เลยคิดอย่างจริงจังว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถมีแอปพิเคชั่น ในการค้นหาที่จอดรถ ในที่ๆ ที่เราจะไปได้ล่วงหน้า แถมยังสามารถจองไว้ก่อนล่วงหน้าได้ด้วย แม้วันนี้อาจจะยังเป็นเพียงแค่ไอเดีย แต่มีความตั้งใจที่จะทำผลงานนี้ให้เป็นจริง เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ให้ได้ และต้องขอบคุณซิสโก้ ที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยได้แสดงไอเดียเพื่อช่วยพัฒนาสังคมอย่างเต็มที่ ตอนแรกเราก็คิดว่าเป็นผู้หญิงคนเดียวจะสู้อีกหลายๆ ทีมได้ไหม เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าผู้หญิงทำอะไรไม่ได้มาก แต่วันนี้ดีใจและภูมิใจที่มายืนในจุดที่เอาชนะความกังวลต่างๆ ได้ด้วยผลงานที่เราทุ่มเทอย่างเต็มที่” สุภาภรณ์ อุ่นวิจิตร จากทีม Parkspace กล่าวทิ้งท้าย