Friday 26 April 2024 | 2 : 45 am

ร่วมเดินทางสู่จิตวิญญาณแห่งดินแดนดอกซากุระ ผ่านนิทรรศการ ‘The Spirit of The Cherry Blossom’ Masterpiece Exhibition

โลตัส อาร์ต เดอ วีฟร์ (Lotus Arts de Vivre) แบรนด์จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านชื่อก้องโลก โดยช่างฝีมือชั้นสูงสัญชาติไทยมาตรฐานระดับสากล นำโดย มร. รอล์ฟ วอน บูเรน ผู้ก่อตั้งแบรนด์และนักสะสมผลงานที่สะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมและศิลปะชั้นสูงของเอเชีย จัดนิทรรศการ “The Spirit of The Cherry Blossom” Masterpiece Exhibition พร้อมพาเหล่านักสะสมและผู้ชื่นชอบผลงานศิลปะในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ร่วมดื่มด่ำไปกับความสุนทรีและหวนคืนสู่จิตวิญญาณแห่งดินแดนดอกซากุระ ด้วยเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ของสะสมสุดหายากอันเป็นผลงานรังสรรค์โดยช่างฝีมือระดับปรมาจารย์จากดินแดนอาทิตย์อุทัยที่ มร. รอล์ฟ ได้รวบรวมรักษาไว้ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ

นิทรรศการ “The Spirit of The Cherry Blossom” Masterpiece Exhibition รวบรวมไว้ซึ่งผลงานที่ล้ำค่าและหาชมได้ยากมากกว่า 200 ชิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ที่ประเทศญี่ปุ่นได้พบเจอกับความยากลำบากมากมายนับหลายร้อยปี อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความอดอยาก โรคภัยนานาชนิด และสงคราม นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังมีความขัดแย้งกันภายในประเทศกว่า 400 ปี เหตุการณ์ต่างๆ นี้ ทำให้การดำเนินชีวิตของสามัญชนทั่วไปเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่สามารถคาดเดาสิ่งใดได้ ในสภาวะแห่งความไม่แน่นอนนี้เองทำให้งานศิลปะมีความสำคัญอย่างมากกับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความสวยงามที่ผู้สร้างมองเห็น ช่างฝีมือจึงใช้จิตใจและจิตวิญญาณทั้งหมดของพวกเขาในการสร้างสรรค์ผลงานทุกชิ้น พร้อมกับคำนึงอยู่เสมอว่าผลงานที่สร้างขึ้นนี้อาจเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลงานทุกชิ้นเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและงดงามอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความฝันของช่างฝีมือที่ต้องการจะสร้างสรรค์ผลงานทุกชิ้นให้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ในขณะเดียวกันผลงานเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และเต็มเปี่ยมไปด้วยปรัชญาที่เปรียบเสมือนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเหล่าผู้สร้างสรรค์อีกด้วย

ผู้เข้าชมงานจะได้ดื่มด่ำไปกับจิตวิญญาณแห่งดินแดนดอกซากุระ ที่ถูกนำเสนอโดยฝีมือของ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ที่ปรึกษาด้านศิลปะและภัณฑารักษ์อิสระ(Curator) ของ Lotus Arts de Vivre อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งมีประสบการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะร่วมสมัยมาอย่างยาวนาน ผ่านโซนจัดแสดง 3 ส่วน ได้แก่

Japanese Aristocratic and Noble Lifeโซนวิถีชีวิตขุนนางและชนชั้นสูงชาวญี่ปุ่น จัดแสดงด้วยชิ้นงานอันทรงคุณค่า อาทิ ชุดเกราะซามูไร ที่มีตราประทับของราชวงศ์อิมพีเรียล จากศตวรรษที่ 18 หน้ากากโนห์ (Noh Mask) เก่าแก่อายุมากกว่า 120 ปี ฉากกั้นญี่ปุ่นโบราณ อายุราว 200 ปี ที่ยังคงความงามอย่างสมบูรณ์แบบ แจกันไม้สักแกะสลัก และแจกันเคลือบแลคเกอร์แบบโบราณ ที่บอกเล่าเรื่องราว ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม และสะท้อนวิถีชีวิตของขุนนางและชนชั้นสูงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่งคั่งและเพียบพร้อมไปด้วยปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน โดยเหล่าขุนนางและชนชั้นสูงในอดีตจะต้องมีความรอบรู้ในศาสตร์และศิลป์แห่งการใช้ชีวิต อาทิ การจัดดอกไม้อิเคบานะ พิธีชงชา การสวมใส่เสื้อผ้าหลากสีสัน ตลอดจนการใช้ภาชนะกระเบื้องเคลือบมูลค่าสูงจากต่างแดน และของตกแต่งบ้านที่ทำจากงานเคลือบแลคเกอร์สุดประณีต ในยามว่างการชมการแสดงหน้ากากโนห์ ซึ่งนักแสดงจะสวมใส่หน้ากากพร้อมแสดงท่าทางให้เข้ากับเสียงดนตรีอันไพเราะขับขานบอกเล่าเรื่องราวของเทพเจ้า วีรบุรุษและวีรสตรีผู้โด่งดัง คือความบันเทิงรูปแบบหนึ่งสำหรับเหล่าชนชั้นสูงของญี่ปุ่นในอดีต หน้ากากโนห์ ยังถือได้ว่าเป็นตัวแทนของลักษณะนิสัยของชาวญี่ปุ่น เพราะเมื่อมองไปยังหน้ากากนี้ จะไม่สามารถรับรู้ได้ถึงอารมณ์ใดๆ แต่ถ้าหากพิจารณาในมุมมองและแสงเงาที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยจากเดิม ก็จะรับรู้ได้ว่าหน้ากากโนห์มีหลากหลายอารมณ์ซ่อนเร้นอยู่อย่างน่าอัศจรรย์

Rolf von Bueren and Luckana Kunavichayanont

The Art of Dressing โซนศิลปะการแต่งกายและแฟชั่น จัดแสดง คอลเลคชันกระเป๋าและเครื่องประดับแลคเกอร์ที่ Lotus Arts de Vivre ได้รังสรรค์ขึ้นใหม่โดยช่างฝีมือชั้นสูง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะและปรัชญาแบบญี่ปุ่น รวมถึงพัสตราภร​ณ์ล้ำค่าอายุหลายร้อยปี อาทิ ชุดกิโมโนโบราณ เสื้อคลุมผจญเพลิง และผ้าคลุมนักแสวงบุญจากสมัยเมจิ ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความหลงใหลที่ชาวญี่ปุ่นมีให้แก่ผ้าและสิ่งทอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรังสรรค์ลวดลายกิโมโนและ เครื่องนุ่งห่มยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของญี่ปุ่น โดยสมัยโบราณแต่ละชนชั้นจะสวมใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกันไป เช่น ชาวนา พ่อค้า และช่างฝีมือ จะสวมชุดกิโมโนที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือป่าน ในขณะที่ชนชั้นสูงจะสวมชุดกิโมโนที่ทำจากผ้าไหม อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีเทคนิคในการรังสรรค์เครื่องแต่งกายอันเลื่องชื่อ เช่น การถักทอผ้าโอบิผสมผสานกับขนของนกยูงและเส้นไหมทองคำ หรือเทคนิคหัตถกรรมโบราณ ที่รู้จักกันในนาม คาตางามิ (Katagami) หรือเทคนิคงานหัตถกรรมลายฉลุญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 1,000 ปี ความล้ำเลิศเหล่านี้ยังได้ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในด้านแฟชั่นและการแต่งกาย ในประเทศต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

Wabi Sabi the beauty of transience and imperfection – โซน วาบิ ซาบิ ความสวยงามในความไม่ยั่งยืนและความไม่สมบูรณ์แบบ จัดแสดงแจกันเซรามิกสมัยใหม่ ถาดเครื่องใช้ ในหลากหลายดีไซน์ จากฝีมือของศิลปินชื่อดัง อาทิ มาสุโอะ อิเคดะ (Masuo Ikeda) ฮิเดกิ อะรากามะ (Hideki Arakama) และ นากาชิมะ คะซึโนริ (Nakashima Katsunori) ที่ได้นำเอาปรัชญา วาบิ ซาบิ อันเป็นแนวคิดที่ยอมรับและยกย่องความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เที่ยงตรง ไม่สมดุล และเรียบง่าย ด้วยความซาบซึ้งในธรรมชาติและวิถีแห่งความเป็นไป ซึ่งถูกปลูกฝังในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งมาประยุกต์ใช้ แต่ละชิ้นงานยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการไม่นำตัวเองเป็นศูนย์กลางและการตระหนักว่าเราอยู่ในสภาวะที่แปรเปลี่ยนอยู่เสม เครื่องปั้นดินเผาและ เซรามิกของญี่ปุ่นยังแสดงให้เห็นแก่นแท้ของหลักปรัชญา วาบิ ซาบิ ที่ชิ้นส่วนอันล้ำค่าที่สุดมักจะแตกร้าว ขึ้นสนิม และไม่สมบูรณ์ สิ่งของที่แสดงถึงปรัชญานี้จึงดูสวยงามไปตามอายุที่มากขึ้น และยิ่งวัตถุที่เปราะบาง แตกหัก หรือเป็นเอกลักษณ์มากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่ชื่นชมมากขึ้นเท่านั้น

สำนักงานสลากฯ เปิดตัว โครงการ SEED PROJECT ปี 4 ‘สร้างผู้นำเยาวชน พาท้องถิ่นสู่สากล’

พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ จีแอลโอ เดิน...